- 21 ก.ค. 2560
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
ป่าต้นน้ำบ้านน้ำราด ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง สามารถดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว สู่ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน ตั้งกฎเหล็กที่นักท่องเที่ยวจะต้องปฏิบัติเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างได้ผล ยอดนักท่องเที่ยวกว่า 7 แสนคนต่อปี แต่ธรรมชาติยังคงความสมบูรณ์ตลอดเวลา
นายกิตติกร ปิ่นรัตน์ นายก อบต.บ้านทำเนียบ พร้อมด้วยนายธีรนันต์ ปราบราย ปลัด อบต.บ้านทำเนียบ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยว ป่าต้นน้ำบ้านน้ำราด ม.4 ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ของ อบต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี
นายสุจิน นาคบำรุง กำนันตำบลบ้านทำเนียบ กล่าวว่า ป่าต้นน้ำบ้านน้ำราด ม.4 ต.บ้านทำเนียบ ได้ถูกกันพื้นที่ไว้เป็นป่าต้นน้ำ ตั้งแต่ พ.ศ.2501 ซึ่งปัจจุบันได้ถูกรุกล้ำไปพอสมควร ชาวบ้านในพื้นที่จึงได้มองเห็นถึงความสำคัญ และจะต้องรักษาไว้ให้คงความเป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงได้จัดตั้งชุดรักษาป่าต้นน้ำ เมื่อ พ.ศ.2552 เพื่อเข้ามาดูแลบริหารจัดการ และป้องกันการบุกรุกทำลายป่า และการล่าสัตว์ พร้อมกันนั้น จึงได้มีการฟื้นฟู ปลูกป่าทดแทน การสร้างฝายชะลอน้ำ ช่วยกันสร้างความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกให้กับคนชุมชน และได้พัฒนาต่อยอดไปในเรื่องของการท่องเที่ยวของชุมชน ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก
ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับขึ้นมา เพื่อให้นักท่องเที่ยว ต้องปฏิบัติเหมือนกันทุกคน ทั้ง การรักษาสิ่งแวดล้อม ความสะอาด และความปลอดภัย โดยได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดอาวุธ ยาเสพติด และขยะ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และ ชรบ. ของตำบลบ้านทำเนียบเป็นผู้ตรวจตรา และคอยดูแลนักท่องเที่ยว ดังนั้นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้จะปลอดขยะ และสิ่งเสพติดร้อยเปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก เดือนละ 50,000-60,000 คน สำหรับช่วงเทศกาลจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา วันละประมาณกว่า 4-5 พันคน ซึ่งค่อนข้างจะหนาแน่นมากสำหรับพื้นที่ที่มีจำกัด
แหล่งท่องเที่ยวป่าต้นบ้านบ้านน้ำราด จะแบ่ง ออก 3 โซนด้วยกัน คือ 1 โซนหวงห้ามซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำผุดออกมาจากถ้ำใต้ภูเขา ซึ่งไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปเล่นน้ำ หรือกระทำการที่ลบหลู่ หรืออาจสร้างความสกปรก และเสียหาย ซึ่งเป็นความเชื่อตามตำนานของคนในพื้นที่ และศรัทธาของชาวบ้านที่จะนำน้ำไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ
โซนที่ 2 อนุญาตให้ชาวบ้านอาบน้ำได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ซึ่งมีความลึกไม่มาก และน้ำใสมาก จนสามารถมองเห็นตัวปลาและรายละเอียดไต้ท้องน้ำได้ ซึ่งในโซนนี้ได้พัฒนาขึ้นโดยใช้แรงงานของคนในชุมชน และจะไม่อนุญาตให้นำเครื่องจักรกลใดเข้ามาดำเนินการซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
โซนที่ 3 ได้เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 4 เดือนแล้ว คือ พายเรือชมธรรมชาติของระบบนิเวศป่าต้นน้ำและป่าพรุ ซึ่งยังคงความงามตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่า ซึ่งหากนักท่องเที่ยวพายเรือไม่เป็น ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยบริการให้
ภาพ/ข่าว สันทัด เจ็ดเสมียนใหม่ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ สุราษฎร์ธานี