- 06 ก.ย. 2560
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
อุทยานแห่งชาติรามคำแหง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย หรือ “เขาหลวงสุโขทัย” เป็นภูเขาสูงชันโดดเด่นอยู่ท่ามกลางพื้นที่ราบ จุดสูงสุดที่ 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล อุดมไปด้วยผืนป่าดิบแล้งสมบูรณ์ บนยอดเขามีทุ่งหญ้าธรรมชาติ ป่าดิบเขา และมีจุดชมวิวยอดหน้าผาต่างๆที่สวยงาม เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินโดยพระบาทขึ้นถึงยอดเขาหลวง หลังจากนั้นการท่องเที่ยวเขาหลวงก็ดีขึ้นตามลำดับ
นายสุพจน์ นาครินทร์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก เปิดเผยว่า เขาหลวงมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ พบวัฒนธรรมหินตั้ง กองหิน และปรากฏชื่อเทือกเขาผีปันน้ำ (ภูเขาผู้ให้ทรัพยากร) ในสมัยสุโขทัยให้ความสำคัญกับเขาหลวงมาก กระทั่งมีการสร้างระบบชลประทานรองรับ ดังข้อความในศิลาจารึกด้านที่ 3 บรรทัดที่ 3-9 ความว่า “เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎี พิหาร ปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง ป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุง ผีเทพยดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขไทนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย...”
โดยข้อความที่แสดงถึงสิ่งเคารพอันสูงส่งเหนือกว่าสิ่งใด คือ “พระขพุง” อันเป็นผีเทพยดาในภูเขาที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการดำรงอยู่ของเมืองสุโขทัย และในศิลาจารึกหลักที่ 98 กล่าวถึง เจ้าธรรมรังสี มีการพบศิลาจารึกชิ้นส่วนช่อฟ้าหิน หรือจารึกเจ้าธรรมรังสี กล่าวถึง “ศิลานี้นำมาแต่เขาพระขพงหลวง” คำว่า “ขพง-ขพุง” เป็นคำเรียกภูเขาตามรากภาษาเขมร จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ดังจะพบพืชสมุนไพรขึ้นอยู่จำนวนมาก คือ “สวนลุ่ม” ในป่าดิบแล้งที่เชิงเขา และ “สวนขวัญ” ในป่าดิบเขาที่บนยอดเขา และพบว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา หัวเมืองคีรีมาศต้องส่งเครื่องบรรณาการเป็นขี้ผึ้งขาว และน้ำผึ้งจากเขาสรรพยา (เขาหลวง) แสดงถึงเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียง มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต
นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับตำนานกำเนิดพระร่วง มีเอกสารโบราณเล่าไว้หลายฉบับ ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 1 เรียกพระยาอภัยคามินีราช ส่วนจุลยุทธการวงศ์ความเรียงในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 66 เรียกพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า เรียกพระเจ้าจันทราชา เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงสุโขทัย ซึ่งโปรดการทรงศีล หลังว่างเว้นจากว่าราชการก็ได้เสด็จประพาสยังเขาหลวง เพื่อทอดพระเนตรธรรมชาติ และได้พบงูคู่หนึ่งกำลังเกี้ยวพันรัดรึง เมื่อพิจารณาดูก็พบว่าเป็นงูดินรัดรึงอยู่กับงูหงอนแดงตระกูลสูง เห็นว่ามิสมควร จะทำให้เสียชาติตระกูลสัตว์ จึงใช้ไม้เท้าคัดแยกเขี่ยออกจากกัน สร้างความโมโหแก่นางนาคกุมารียิ่งนัก หากแต่มิสามารถจะทำอะไรแก่พญาสุโขทัยผู้ทรงศีลได้ จึงกลับไปทูลฟ้องแก่พระบิดาว่าถูกพระเจ้ากรุงสุโขทัยใช้กระบองทุบตีไล่ให้พ้นทางสร้างความเจ็บปวดยิ่งนัก ขอให้พระบิดาไปฆ่าทิ้งซึ่งพญานั้นเถิด ฝ่ายพญานาคราชก็ได้จำแลงกายเป็นดาบสมายังสำนักกรุงสุโขทัย เพื่อสอบถามถึงความจริง
ซึ่งพระเจ้ากรุงสุโขทัยก็ได้กล่าวจนสิ้นถึงเหตุประหลาด ที่นางงูหงอนแดงตระกูลสูงจำแลงกายมาเกลือกกลั้วกับงูดินตระกูลต่ำ เห็นไม่สมจึงใช้ไม้เท้าคัดแยกจากกันเสีย ความก็มีเท่านี้ พญานาคราชผู้เป็นใหญ่ทราบความจริงก็ได้บริภาษแก่ธิดาในความมุสาเป็นอันมาก จึงไล่ให้ไปปรนนิบัติซึ่งพญาสุโขทัยเป็นการทำโทษ นางนาคกุมารีก็ได้จำแลงแปลงกายเป็นเทพธิดาสวยงามมาเฝ้าปรนนิบัติ สร้างความรักใคร่แก่พระเจ้ากรุงสุโขทัย หลงใหลเสพสังวาสด้วยเสน่หาแก่นางถึง 7 ราตรีแล้ว จึงได้มอบภูษาแดงและพระธำมรงค์ไว้เป็นสัญญาใจ โดยจะกลับไปว่าราชกิจ ก็จะกลับมารับเข้าไปสู่สำนักวังสุโขทัย ครั้นครบ 7 วัน นางผู้เฝ้าคอยก็ไม่เห็นมีใครมาจึงเศร้าโศกเสียใจหนีไป ครั้นพญานึกได้ก็แต่งราชยานคานหามตามหาถึง 3 ราตรีก็ไม่พบ กลับมาด้วยความเศร้าใจ ฝ่ายนางนาคกุมารีนั้นก็ได้มีครรภ์ ครั้นจะคลอดที่นาคพิภพก็ละอายหมู่ญาติ ด้วยลูกของนางกึ่งนาคกึ่งมนุษย์ จึงขึ้นมาคลอดที่บนเขาหลวง โดยสำรอกต่อมโลหิตห่อผ้าแดงแฝงธำมรงค์วางไว้ในเชิงผา กล่าวฝากด้วยฤทธิ์นาคแห่งตน ที่ลำธารนั้นคางคกใหญ่ได้คาวเลือดก็กลืนต่อมโลหิตเข้าไป พลันก็ตายด้วยพิษนาค แต่ด้วยบุญกุศลแห่งกุมารน้อยจึงไม่ตาย และได้แฝงอยู่กับร่างคางคกด้วยฤทธิ์แห่งนาค
อยู่มาไม่นานสองตายายจากตำบลภูขอน มาหาปูหาปลาในลำธารกันจนจะหมดวันก็ไม่ได้ปลาสักตัว มีแต่เวียนติดคางคก ครั้งแล้วครั้งเล่า จึงสบถกล่าวว่าจะฆ่าแกงเสีย ฝ่ายคางคงจึงกล่าวเป็นเสียงมนุษย์ “จงอย่าฆ่าเราเลยท่านตา” ฝ่ายตายายซึ่งไม่มีลูกจึงนำใส่ตะข้องกลับไปเลี้ยงดู ด้วยคางคกนั้นพูดได้ด้วยความรัก พลางก็ใส่ร่วงใส่ร่วงจากตะข้อง จึงเรียกว่า “ออร่วง” แต่นั้นมา เพียงไม่นานออร่วงก็เติบโต หลังจากตายายออกไปทำไร่ก็จะออกมาปัดกวาดบ้านเรือนหุงหาอาหารไว้ด้วยฤทธิ์นาค จนวันหนึ่งตายายก็ออกอุบายว่าไปไร่ หากแต่มาเฝ้าดูก็ได้เห็นกุมารนั้นช่างสง่างาม จึงเผาทิ้งเสียซึ่งร่างคางคก ต่อมาพระเจ้ากรุงสุโขทัยโปรดจะสร้างปราสาทใหม่ และได้มีหมายมาถึงตายายให้ส่งไม้ไผ่ 100 ลำ เข้าไปสมทบในเมือง ก็ได้กำลังจากเด็กออร่วงลากไม้ไผ่ลำเดียว และกล่าววาจาสิทธิ์ให้ลำอื่นๆตามมายังเมืองสุโขทัย ก็พบว่ากำลังตั้งเสาเอก เพียงเด็กออร่วงกล่าวให้เสาเอียงซ้าย เสาก็ไปซ้าย กล่าวให้เอียงขวา เสาก็ไปขวา จนบรรดาช่างทั้งหลายหมดปัญญาจะตั้งเสาให้ตรงได้ เด็กออร่วงจึงได้ขันอาสาตั้งเสาให้ตรง เพียงกล่าวว่าเสาตรงพลันเสาก็ตรงดั่งเหตุอัศจรรย์ ความทราบถึงพระเจ้ากรุงสุโขทัยจึงมาไต่ถามกับตาเฒ่า ซึ่งก็ได้ตอบกล่าวไปตามความว่าเด็กออร่วงนี้พบมากับแหวนและผ้าแดง ฝ่ายพญาสุโขทัยนั้นก็แน่พระทัย ด้วยจำได้ถึงสิ่งแทนใจแก่นางนาค ซึ่งกุมารนี้ก็คือลูกที่เกิดแต่นางนาคเป็นแน่แท้ จึงได้ขอรับเด็กออร่วงเข้าสู่สำนักวังสุโขทัยตั้งแต่นั้นมา
ข่าว / ภูเบศวร์ ฝ้ายเทศ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จ.สุโขทัย
(ขอบคุณภาพข้อมูลจากสุพจน์และลุงอ้อ)