- 20 ต.ค. 2560
อวบ...อ้วน...น่ากิน!! จากพนักงานบริษัท ผันตัวเองมาประกอบอาชีพเลี้ยงด้วงสาคู เป็นที่ต้องการของตลาดจนไม่พอขาย สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
นายวิษรุต ใหม่ชู อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12 ม.7 ต.ป่าพะยอม อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง นับว่าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เล่าว่า หลังจากที่ตนเองได้ผันตัวมาจากพนักงานบริษัท มาช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานที่บ้านมีความสนใจที่จะเลี้ยงด้วงสาคูเป็นอาชีพเสริม จึงได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองจากทางอินเตอร์เน็ต และไปศึกษาเรียนรู้จากเกษตรกรทั่วไป โดยเริ่มทดลองเลี้ยงด้วงสาคูเมื่อปี 2558 ใช้ล้อยางรถยนต์ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาได้ทดลองเลี้ยงกับกะละมัง ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงได้ขยายจำนวนการเลี้ยงมาเรื่อย ๆ จนถึงขณะนี้ เลี้ยงด้วงสาคูประมาณ 800 กะละมัง
นายวิษรุต กล่าวถึง การเลี้ยงด้วงสาคู ว่า ได้สร้างโรงเรือนขนาด 15 คูณ 17 เมตร กั้นด้วยตาข่ายเพื่อป้องกันแมลงวันลาย ซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญของตัวด้วง จากนั้นนำต้นสาคูมาบดใส่กะละมัง ผสมกับอาหารปลาและใส่น้ำ ใส่พ่อ-แม่พันธุ์ ด้วงงวง 9 - 10 ตัว ปล่อยไว้ประมาณ 15 วันจะเริ่มมีตัวด้วง จากนั้นเก็บพ่อ - แม่พันธุ์ออก พร้อมกับใส่ต้นสาคูบดเพิ่มเติม พร้อมกับนำกาบมะพร้าวปิดด้านบนทิ้งไว้อีก 15 วัน จะได้ด้วงสาคูขนาดพอเหมาะที่จะส่งขาย โดย 1 กะละมัง เก็บด้วงสาคูได้ 1 กิโลกรัม ขณะนี้ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 200 บาท จะส่งขายให้กับพ่อค้าแมลงทอดใน จ.พัทลุง จ.นครศรีธรรมราช และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ใน 1 สัปดาห์สามารถจับตัวด้วงสาคู ขายได้ประมาณ 30 กิโลกรัม หรือ ประมาณ 6 พันบาท และใน 1 เดือน ตนจะมีรายได้จากการขายด้วงสาคู 18,000 - 20,000 บาท สำหรับราคาตัวด้วงตามท้องตลาดราคากิโลกรัมละ 200 – 300 บาท นับว่าตลาดมีความต้องการสูง การผลิตตัวด้วงยังไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า
ล่าสุด ในปีนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน จำนวนเงิน 91,200 บาท จึงได้นำมาต่อยอดขยายผล โดยรวบรวมสมาชิกในชุมชน 14 ราย มาเลี้ยงด้วง เป็นอาชีพเสริมหลังจากกรีดยางเสร็จ ขายผลผลิตไปแล้ว 1 รุ่น สามารถสร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึง