- 04 พ.ย. 2560
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
ตลาดรับซื้อยางพาราในจังหวัดแพร่ มีเพียง 6 จุด ได้แก่ ตลาดเวียงโกศัย ตลาดหาดรั่ว อ.วังชิ้น ตลาดผาจั๊บ อ.ลอง ตลาดวังปึ้ง อ.ร้องกวาง ตลาดสะเอียบ อ.สอง และ ตลาดที่สำนักงานกองทุนยางแห่งประเทศไทยจังหวัดแพร่ อ.เมืองแพร่ สำหรับปริมาณยางก้อนถ้วย ออกสู่ตลาดรวมทั้ง 6 ตลาดกว่า 150 ตัน ต่อครั้ง ในการประมูลทุก 15 วัน การประมูลล่าสุดได้ราคาเพียง 19.35 บาท / กก.เท่านั้น ซึ่งราคาดังกล่าวไม่เป็นที่พอใจของเกษตรกร เนื่องจากยังไม่คุ้มต่อการลงทุนนอกจากต้องลดค่าใช้จ่ายทุกด้านเช่น ลดการจ้างแรงงาน เจ้าของสวนต้องดำเนินการเอง ลดการดูแลและลดขั้นตอนการผลิตเช่นหันมาทำยางก้อนถ้วยแทน เป็นต้น
มาฟังแกนนำเกษตรกรอย่าง นายบุญช่วย สาทุ่ง อายุ 54 ปี ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตลาดยางสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ตลาดยางที่ต.สะเอียบ จังหวัดแพร่ ถือเป็นตลาดกลางของอ.สอง จ.แพร่ จะมีการประมูลจำหน่ายยางพารา เดือนละ 2 ครั้ง คือวันพุธที่ 1 และวันพุธที่ 3 ของแต่ละเดือน ในตลาดยาง อ.สองนี้มีสมาชิกจำนวน 157 ราย มีพื้นที่ปลูกอยู่ถึง 5,000 ไร่ ถือเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด เกษตรกรในจังหวัดแพร่ยังคงผลิตยางก้อนถ้วยเป็นหลักและนิยมจำหน่ายยางเปียกมากกว่าเพราะต้องการเงินไม่สามารถรอได้การประมูล ครั้งล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีเกษตรกรสวนยาง นำผลผลิตออกมาจำหน่ายเพียง 48 ราย มีปริมาณจากก้อนชนิดเปียกจำนวน 21 ตันได้ราคาเพียง 19.35 บาท / กก.เท่านั้น
นายบุญช่วยกล่าวอีกว่า ระดับราคารับซื้อปัจจุบันถามว่าอยู่ได้หรือไม่ ก็คงตอบได้ว่ายังไปพอรับได้ แต่เกษตรกรต้องลดต้นทุนการผลิตทุกด้าน เพื่อให้เงินเหลือใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สำหรับราคายางที่เหมาะสมยางก้อนถ้วยชนิดเปียก น่าจะอยู่ที่ 30 บาท / กก. ชนิดหมาด 31 บาท และชนิดแห้ง 32 บาท ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ถ้ารัฐบาลยังปล่อยให้ตลาดยางพาราขึ้นอยู่กับตลาดโลก และปริมาณยางพาราเป็นสินค้าส่งออก ทางออกที่ดีเกษตรกรเชื่อว่า ถ้ารัฐเร่งส่งเสริมการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารา เช่น ยางรถยนต์ ถนน ถุงมือ ที่นอน ฯลฯ ให้มากขึ้น น้ำยางที่ผลิตได้ในประเทศไทยก็จะมีแหล่งรับซื้อภายในประเทศทำให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตภัณฑ์ยางมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพราคาเหมาะสมเกษตรกรก็จะได้ราคารับซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างทั้งระบบเป็นอย่างยังยืน เกษตรกรพร้อมไปสู่ตรงนั้น ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรเองก็พยายามที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราอยู่เหมือนกัน หากรัฐฯให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราแบบครบวงจร ซึ่งจะทำให้ราคายางพารา ณ ตลาดรับซื้อขยับราคาสูงขึ้นอีกด้วย
ข่าว/ภาพ ธีรพงษ์ ธงออน ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จังหวัดแพร่