- 31 ม.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
นายถาวร เลี้ยงสกุล เกษตรกรชาวตรัง ร่วมกับสำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง เป็นคนแรกที่นำพ่อแม่พันธุ์ไก่ดำ KU-ภูพาน มาเพาะเลี้ยงเพื่อบริโภค และจำหน่ายลูกพันธุ์ในราคาถูก จนล่าสุดสามารถเพาะขยายพันธุ์ลูกไก่ได้หลายรุ่นๆ ละ 50-100 ตัว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร โดยจะเน้นการเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อประหยัดต้นทุน ด้วยการนำข้าวงอก หยวกกล้วย ใบเตย มาเป็นอาหาร และปล่อยให้หากิน มด แมลงในสวนยางพารา ซึ่งทำให้ไก่มีสุขภาพดี โตเร็ว อัตราแลกเนื้อสูง เนื่องจากในข้าวงอก จะมีโปรตีนสูง ย่อยง่าย แถมมีสาร Gaba (กาบา) ที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำดี และลดการสะสมของไขมัน ส่วนหยวกกล้วยหมัก จะช่วยในการย่อยอาหาร มีโปรตีนสูง และใบเตย จะทำให้ไก่มีกลิ่นหอม ลดการสะสมของกรดยูริค และเพรียวรีน ทำให้ในปัจจุบันไก่ดำ KU-ภูพาน ที่เลี้ยงเพียง 3-4 เดือน ก็สามารถนำมาบริโภค หรือจำหน่ายได้แล้ว ในราคาที่กิโลกรัมละ 150-200 บาท
สำหรับไก่ดำ KU-ภูพาน เกิดจากการคิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์ โดยอาจารย์ภานุวัฒน์ คัมภีราวัฒน์ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคเยอะมาก เพราะในไก่ดำ KU-ภูพาน จะมีสารเมลานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน รวมทั้งช่วยชะลอความแก่ ลดการเกิดฝ้า ลดปวดประจำเดือน อีกยังทั้งมีสารคาร์โนลีน (Carnosine) ที่มากกว่าไก่ทั่วไปอยู่ 2 เท่า จึงช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น และโลหิตจางด้วย ซึ่งขณะนี้ นายถาวร เลี้ยงสกุล ได้จัดตั้งดวงใจฟาร์ม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ไก่ KU-ภูพาน ณ บ้านเลขที่ 419/2 ถนนเพชรเกษม ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง โดยให้เกษตรกรผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้ และเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม โดยมีสำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง เป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนต่อไป
ภาพ/ข่าว ถนอมศักดิ์ หนูนุ่ม ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จังหวัดตรัง