- 17 ก.พ. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
นายชยันต์ ธานะราช สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เขตอำเภอบ้านม่วง จ.สกลนคร นำผู้สื่อข่าวไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่แปลกและแห่งใหม่ที่ทุกคนยังไม่รู้จักกันมากนัก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลดงหม้อทอง อ.บ้านม่วง ที่บริเวณลุ่มลำน้ำสงคราม เขตรอยต่อระหว่างอำเภอบ้านม่วงและอำเภอโช่พิสัย จ.บึงกาฬ อยู่ติดใกล้กับสะพานที่เชื่อมต่อติดต่อหากันระหว่างสองอำเภอ จุดดังกล่าวห่างไกลจากตัวอำเภอบ้านม่วงประมาณ ๓๐ กม. และห่างจากหมู่บ้านดงหม้อทองประมาณ ๔ กม. จากการสอบถามคนในพื้นที่ทราบว่าบริเวณแห่งนี้ชาวบ้านเรียกกัน แก่งเต่า หลีผี เนื่องจากรูปลักษณ์โขดหินลักษณะคล้ายเต่ามีสันกระดอง และส่วนหัวคล้ายคลึงกับเต่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ประกอบโดยรอบมีโขดหินสลับทับซ้อน เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะมีพันธุ์ปลาน้อย-ใหญ่อาศัยหลบซ่อนอยู่ที่บริเวณแห่งนี้จำนวนมาก ชาวบ้านที่นี่ยังเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างให้ความเคารพ ตามความเชื่อของตนในท้องถิ่น
ซึ่งบริเวณนี้ถูกค้นพบมานานพร้อมกับการก่อตั้งหมู่บ้านดงหม้อทอง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยครั้งนั้นมีชาวบ้านอาศัยอยู่เพียง ๓ ครอบครัว ริเริ่มบุกเบิกก่อตั้งหมู่บ้านในช่วงสมัยนั้น โดยพระอาจารย์ จวน กุลเขมโฐ และชาวบ้านที่มีอยู่ ต่อมามีการขยายและมีผู้คนจากที่อื่นๆได้เข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น และลำน้ำสงครามเป็นแหล่งที่ทำมาหากินหล่อเลี้ยงชาวบ้านในพื้นที่ และบริเวณแก่งเต่ามีปลาชุกชุมจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านปักหลักจับปลาที่นั้น แต่ก็มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นและมีผู้ประสบกับหลายเหตุการณ์ทีทำให้ชาวบ้านหวั่นกลัว คือหลังจากที่มีคนจับปลาที่นั้นฉี่รดบริเวณหัวเต่า เพื่อนที่อยู่เห็นได้ห้ามปรามไว้ เมื่อกลับถึงบ้านเกิดอาการชักร้อนทุรนทุรายเหมือนคนใกล้ตาย เพื่อนบ้านที่เคยห้ามเชื่อคิดว่าสาเหตุดังกล่าว จึงบอกภรรยาและลูกไปขอขมากล่าวโทษและสำนึกผิดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อทำตามคำบอกกล่าวปรากฎว่าหายเหมือนปลิดทิ้ง ตั้งแต่นั้นจึงล้ำลือไม่มีใครกล้าที่กระทำอีก และต่อมาท้องถิ่นได้บูรณะปรับปรุงสถานที่จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวรู้จักกันในเฉพาะพื้นที่และใกล้เคียง
ขณะที่นายอำเภอบ้านม่วง นายนวรัตน์ วงศ์ปิ่นเพ็ชร์ พร้อมด้วยนางสวาสมฤดี ศิริรัตน์ ประมงอำเภอบ้านม่วง นายวิกรานต์ ทองเฟื่อง กำนันตำบลหม้อทอง และปราชญ์ชาวบ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลดงหม้อทอง สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ตลอดเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ร่วมเสวนา จัดให้มีการพัฒนา และส่งเสริมแก่งเต่าเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและพันธุ์ปลา โดยกำหนดเขตห้ามจับปลาระยะห่างประมาณ ๕๐ เมตร เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลา พร้อมปรับปรุงอาคารหรือที่พักไว้รองรับแก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนปรับปรุงเส้นทางเข้า-ออกให้ดีขึ้น พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านจิตอาสาช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมและเล่นน้ำกันจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเมื่อมีการพัฒนาและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เชื่อว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสกลนคร
โดย ไมตรี แก้วบุญมี สกลนคร