- 10 ก.ย. 2561
มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้ทันกระแส LGBT ม.ทักษิณนำร่อง ไฟเขียวนศ.แต่งตัวตามอัตลักษณ์ทางเพศ
เพศวิถี คือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจะมีชื่อย่อ LGBT ที่มีความหมาย L ย่อมาจาก lesbian (เลสเบี้ยน) , G คือคำว่า gay (เกย์) , B คือคำว่า bisexual (ไบเซ็กชวล),และ T คือคำว่า transgender/transsexual (คนข้ามเพศ) ซึ่งในปัจจุบันถือวามีคนกลุ่มนี้มากในสังคม โดยทางมหาวิทยาลัยทักษิณ ถือเป็นที่แรกในประเทศที่อนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศ โดยไม่ต้องยื่นคำขอ ซึ่งทางคณะกรรมการ วลพ. ต่างชื่นชมอย่างมากในการปรับตัวของทางมหาวิทยาลัย
วันนี้ (10 ก.ย.61) กรมการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกองส่งเสริมความเสมอภาค จัดเสวนา เรื่อง "ความเสมอภาคในการแสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ปรากฏการณ์ในสถาบันการศึกษา" โดยมีผู้แทนจาก คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ได้แก่ น.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด คณะกรรมการ วลพ. , น.ส.จันทิมา ธนาสว่างกุล อนุกรรมการ วลพ.คณะที่ 2 , นายกิตตินันท์ ธรมธัช อนุกรรมการ วลพ.คณะที่ 2 , ผศ.นพดล ศุกระกาญจน์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล , อาจารย์อารยา สุขสม คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา, นายนาดา ไชยจิตต์ นักกฎหมายอิสระ และผู้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรม วลพ.รายแรก
น.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด คณะกรรมการ วลพ. กล่าวว่า ในปัจจุบันพบว่ามีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. ค่อนข้างมาก เพื่อให้มีคำวินิจฉัยไปยังมหาวิทยาลัยให้แก้ระเบียบอัตลักษณ์ทางเพศของตน รวมทั้งใช้รูปถ่ายตามเพศสภาพในเอกสารต่างๆของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการแต่งชุดครุยวิทยาฐานะในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
ผศ.นพดล ศุกระกาญจน์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า ผู้ริเริ่มในการจัดทำประกาศของมหาวิทยาลัยทักษิณ เรื่อง แนวปฏิบัติการแต่งกายของนิสิตมีอัตลักษณ์ทางเพศหรือวิถีทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด พ.ศ.2560 ซึ่งอนุญาตให้นิสิตแต่งกายเข้าชั้นเรียน เข้าสอบวัดผล เข้าฝึกปฎิบัติงาน และแต่งชุดครุยตามเพศวิถีตนได้ โดยตั้งแต่ออกประกาศฉบับนี้เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ยังไม่มีปัญหาหรือความวุ่นวายใดๆเกิดขึ้น ซึ่งประกาศของมหาวิทยาลัย ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า หากผู้ปฎิบัติงานในมหาวิทยาลัย กลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหงผู้ร่วมงาน นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชน ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถีทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดถือว่าผิดวินัย
นายนาดา ไชยจิตต์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า ตนและเพื่อนกลุ่ม LGBTI มีความยินดีอย่างมาก ที่พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่กล่าวถึงพวกตน
ทั้งนี้ นิยามของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มีคำนิยามว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ" หมายความว่า การกระทำใดอันแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยปราศจากความเป็นธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือหญิงโดยกำเนิด" โดยมีคณะกรรมการวินิจฉัยการปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ แต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มีหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยคำร้องของผู้ถูกเลือกปฎิบัติ และหากผู้ถูกร้องไม่ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
ทีมข่าวเฉพาะกิจ สำนักข่าวทีนิวส์