- 21 เม.ย. 2562
บึงกาฬ งานไหลสงกรานต์!! งานประเพณีสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ส่งท้ายสงกรานต์คึกคัก
เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 20 เม.ย. นายธวัชชัย ศรีทอง รอง.ผวจ.บึงกาฬ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้ร่วมกับนายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ นำพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดบึงกาฬทุกหมู่เหล่า ทำพิธีบวงสรวงและแห่น้ำจั้นศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของบรรพบุรุษ โดยนำเอาน้ำจั้นหรือน้ำจากบ่อซึมที่มีความสูงจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงในหน้าแล้ง และไหลลงสู่แม่น้ำโขงตลอดทั้งปีไม่มีเหือดแห้ง ซึ่งน้ำบ่อซึมนี้เมื่อครั้งในอดีตผ่านมาชาวบ้านได้ใช้เป็นแหล่งน้ำดื่มสำหรับคนในตำบลบึงกาฬ ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงบ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 5 ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ และทุกๆ ปีหลังจากวันสงกรานต์ จะมีพิธีแห่น้ำจั้นทั้งในทางบกและทางน้ำ แห่ทวนน้ำขึ้นไปทางเหนือตามลำแม่น้ำโขง และเมื่อไปถึงท่าน้ำหน้าวัดท่าไคร้หรือวัดโพธารามก็จะอัญเชิญน้ำจั้นไปสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ในอุโบสถ
นายธวัชชัย รอง ผวจ.กล่าวต่อไปว่าปีนี้จังหวัดได้จัดขบวนแห่ฟ้อนรำอันสวยงาม มีชาวจังหวัดบึงกาฬจากหลายเชื้อชาติ หลายชนเผ่า จำนวนกว่า 2,000 คน ต่างพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดฟ้อนรำตามขบวนแห่น้ำจั้น เพื่ออัญเชิญน้ำไปสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ ซึ่งถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดบึงกาฬ ณ วัดโพธาราม บ้านท่าไคร้ อ.เมืองบึงกาฬ ที่นับเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและชาวลาว เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขงต่างให้ความเคารพศรัทธา มาเข้าร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่นลูกหลานที่ไปเรียนหนังสือหรือไปทำงานในต่างจังหวัดจะต้องกลับมาบ้านบึงกาฬ เพื่อมาเข้าร่วมพิธีนี้ทุกคนและถือปฏิบัติกันมาเป็นประเพณีทุกปี
ส่วนประวัติหลวงพ่อพระใหญ่ ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เล่าขานต่อๆ กันว่าราว 200 กว่าปีก่อน ชาวบ้านอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองยศ หรือยโสธร มาปักหลักแผ้วถางบุกเบิกป่าทึบริมฝั่งแม่น้ำโขงแล้วพบหลวงพ่อพระใหญ่ ในสภาพมีเถาวัลย์ปกคลุมรกรุงรังก็พบว่าพระเกศของหลวงพ่อหักเพราะถูกช้างป่ากระชากเถาวัลย์ลงมาเพื่อหากินตามธรรมชาติของสัตว์ป่า และเห็นเป็นรูปร่างของสถานที่บำเพ็ญบุญ หรือสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา อีกทั้งยังพบซากเครื่องปั้นดินเผา โอ่งโบราณ รวมทั้งเครื่องใช้อีกหลายอย่างองค์พระพุทธรูปนั้นตั้งแต่ได้พบมาถึงปัจจุบันจึงช่วยกันบูรณะเสริมพระเกศขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์ และฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบสร้างเป็นวัดขึ้น ขณะนี้อุโบสถทีประดิษฐานหลวงพ่อพระใหญ่อยู่ในระหว่างการบูรณะก่อสร้างหลังใหม่ใหญ่กว่าเดิม หลวงพ่อพระใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว สูง 3 ศอก 1 คืบ ศิลปะสมัยล้านช้าง แสดงถึงสายสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมสองฝั่งโขง
พุทธศาสนิกชนมักไปกราบไหว้บูชาตั้งจิตอธิษฐานขอพร ขอให้ทำสิ่งใดๆ ได้สำเร็จ เช่น การสอบเข้าเรียน การเข้าทำงานหรือแม้การขอมีบุตร เมื่อได้สมหวังตามที่ขอหรือบนบานเอาไว้ ก็จะมาแก้บนด้วยการจุดบั้งไฟเล็กจำนวน 9 ดอกเป็นการถวายบูชาหลวงพ่อพระใหญ่ ณ จุดที่เตรียมไว้ข้างอุโบสถด้านติดแม่น้ำโขง สำหรับพิธีกรรมสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่นั้น ผู้ชายสามารถเข้าไปสรงน้ำได้ภายในอุโบสถ ส่วนผู้หญิงเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับการเข้าไปในอุโบสถไม่ว่ากรณีใดๆ หรือเวลาไหน แต่การสรงน้ำพระครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำบันไดเทียบข้างอุโบสถไว้ให้ขึ้นไปสรงน้ำผ่านท่อหรือรางน้ำที่จัดเตรียมไว้ให้ หรือจะสรงน้ำที่องค์หลวงพ่อพระใหญ่องค์จำลอง ที่ประดิษฐานอยู่นอกอุโบสถก็ได้ ซึ่งการจัดงานได้ทำขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 เม.ย.โดยให้ถือปฏิบัติเป็นประเพณีทุกปี และจัดให้มีงานมหรสพสมโภช 3 วัน 2 คืนเป็นงานปิดท้ายวันสงกรานต์ของจังหวัดบึงกาฬนั่นเอง.
นิธิศักดิ์ เศรษฐแสงศรี ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทินิวส์ จ.บึงกาฬ