"ต้นรวงผึ้ง" พรรณไม้ประจำพระองค์ ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐

ประวัติ "ต้นรวงผึ้ง" หรือ Yellow star พืชพรรณไม้ประจำพระองค์ ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐

ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐

รวงผึ้งเมื่อกลีบแย้ม    เหลืองอร่าม

 ชูช่อสนงดงาม                 อ่อนช้อน
  พฤกษาถิ่นสยาม              ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง
  ฝนหยดหยาดลงย้อย        แต่งแต้มดอกใบ

น้ำผึ้ง หรือสายน้ำผึ้ง คือชื่อพื้นเมืองของต้นรวงผึ้ง ไม้หอมที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พบมากในป่าทางภาคเหนือ สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๑,๑๐๐ เมตร เป็นพันธุ์ไม้พวกเดียวกับปอกระเจาและตะขบฝรั่ง           
        ต้นรวงผึ้ง หรือYellow star (ชื่อสามัญ) จัดอยู่ในวงศ์ MALVACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Schoutenia glomerata King subsp. peregrina (Craib) Roekm. ลักษณะเด่นของต้นรวงผึ้งคือดอกสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน มีช่อดอกดกที่เกิดตามซอกใบเป็นช่อสั้น โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น ๕ แฉกคล้ายรูปดาว ไม่มีกลีบดอก มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ซึ่งส่วนที่มองเห็นเป็นสีเหลืองเหมือนดอกนั้นคือเกสรตัวผู้ที่รวมกันเป็นกระจุก ลำต้นแตกกิ่งต่ำ กิ่งค่อนข้างเล็กเรือนยอดเป็นพุ่มมน ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปแผ่นใบสองข้างไม่เท่ากัน ผิวใบด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีน้ำตาลอมนวล สามารถขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งและเพาะเมล็ด

 

ต้นรวงผึ้ง

ดอกรวงผึ้งจะเบ่งบานในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ผลิดอกได้นาน ๗-๑๐วัน เมื่อดอกสีเหลืองบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูงดงามอร่ามตา และส่งกลิ่นหอมชื่นใจตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ต้นรวงผึ้งยังมีความสำคัญคือเป็นพรรณไม้ประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องด้วยดอกรวงผึ้งมีสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ และผลิดอกช่วงวันพระราชสมภพพอดี เมื่อพระองค์เสด็จฯ กอปรพระราชกรณียกิจตามสถานที่ต่างๆ ก็จะทรงปลูกต้นรวงผึ้งพระราชทานไว้เพื่อเป็นตัวแทนแห่งพระองค์ท่านและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ราษฎร

เหนือสุดสยามไพร    บ่มิคลายพนาพรร

รวงผึ้งวิลาวัณย์               ดรุนั้นประจำองค์

 เจ้าฟ้าสยามแดน             นฤแคว้นฤดีคง
 เทิดไท้ ธ ยืนยง              องค์บรมราชกุมาร

 

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อไทย :               รวงผึ้ง
ชื่อท้องถิ่น :          น้ำผึ้ง (กรุงเทพฯ) , สายน้ำผึ้งและดอกน้ำผึ้ง (ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญคือ :       Yellow star
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Schoutenia glomerata King subsp.peregrina (Craib)Roekm.
ชื่อวงศ์ :               MALVACEAE
ลักษณะวิสัย :       ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :                     
          ลำต้น : ลำต้นแตกกิ่งต่ำ กิ่งค่อนข้างเล็กเรือนยอดเป็นพุ่มมน
               ใบ : ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปแผ่นใบสองข้างไม่เท่ากัน ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียว ด้านล่างสีน้ำตาลอมนวล  
            ดอก : ดอกมีกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน บานได้นาน ๗ – ๑๐ วัน ช่อดอกดกเกิดตามซอกใบเป็นช่อสั้น โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น ๕ แฉกคล้ายรูปดาว ไม่มีกลีบดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมากซึ่งส่วนที่มองเห็นเป็นสีเหลืองเหมือนดอกนั้นเป็นเกสรตัวผู้รวมกันเป็นกระจุก เมื่อบานเต็มที่ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ ซม. มีกลิ่นหอม เมื่อดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามอร่ามตาและส่งกลิ่นหอมชื่นใจ
              ผล : เป็นผลแห้ง ทรงกลม มีขน เมื่อแก่จะไม่แตก ขนาด ๐.๕-๑ เซนติเมตร
ระยะติดดอก : ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

สภาพนิเวศวิทยา:เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบขึ้นในที่แล้ง ไม่มีน้ำท่วมขังจึงจะมีดอกสีเหลืองดกเต็มต้น แต่หากได้น้ำมากหรือขึ้นบนที่ชุ่มน้ำจะมีดอกประปราย
การปลูกและการขยายพันธุ์ :     การตอนกิ่ง และปักชำกิ่ง หรืออาจใช้การเพาะเมล็ดก็ได้ การตอนกิ่ง เป็นวิธีการที่เหมาะสมแต่ต้องใช้ฮอร์โมนในการเร่งรากจึงจะได้ผลดีในการขยายพันธุ์
รายละเอียดการใช้ประโยชน์ :     นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกสวยงามออกเต็มต้น มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ให้ร่มเงา ปลูกเลี้ยงง่าย ทนแล้ง  เป็นไม้มงคลเหมาะสำหรับคนธาตุไฟ   
ข้อดีของพันธุ์ไม้ :          
            - ออกดอกครั้งละมากๆ (เต็มต้น) เมื่อดินแห้งตามธรรมชาติ
            - เป็นพันธุ์ไม้หอมที่มีช่วงการปลูกกว้าง สามารถขึ้นได้ดีทั้งที่แห้งแล้งและที่ค่อนข้างชื้น
            - เป็นพันธุ์ไม้ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ไม่ต้องการการดูแลมาก ใบไม่ค่อยร่วง
            - เป็นพันธุ์ไม้ที่มีระบบรากดีมาก ไม่มีการหักโค่นของต้นขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าจะเป็นกิ่งที่ได้จากการตอน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 
- กรมป่าไม้แจ้งข่าวดีพบต้นอ่อน DNA ตรงกับ"ศรีมหาโพธิ์ ในหลวง ร.9 ทรงปลูกถูกตัดโค่นในวัดธรรมิการามฯ
- เชื่อว่าเมื่อคุณอ่าน... จะต้องน้ำตาซึม... "เรื่องสั้นของเด็กชาวเขา กับ ต้นไม้ของพ่อ"....

ขอบคุณข้อมูลจาก อุทยานหลวงราชพฤกษ์