- 19 พ.ย. 2559
หวัด-ท้องเสีย-บาดแผล ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หมอชี้ กินมากเสี่ยงดื้อยา
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แถลงข่าวสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2559 โดยนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ส่งผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน และยังทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงปีละ 46,000 ล้านบาท
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้คนไทยมีผู้ป่วยเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุสมผล โดยพฤติกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เช่น ซื้อยาปฏิชีวนะกินตามคนอื่น หยุดรับประทานยาปฏิชีวนะเมื่อมีอาการดีขึ้น ซื้อยาปฏิชีวนะกินเองตามที่เคยได้รับจากแพทย์ครั้งก่อนๆ ใช้ยาอมที่ผสมยาปฏิชีวนะ
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) กล่าวว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังคงสั่งยาต้านแบคทีเรียให้กับ 3 โรคที่รักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ 1.โรคหวัด ไอ เจ็บคอจากไวรัส 2.ท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ และ 3.บาดแผลทั่วไป ทำให้ประชาชนมีความเชื่อที่ผิดว่าโรคเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาแก้อักเสบ
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) กล่าวว่า ผู้ป่วยเป็นอยู่ไม่ใช่โรคติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์ก็ไม่ควรสั่งยาต้านแบคทีเรียให้แกผู้ป่วย เนื่องจากโรคเหล่านี้ หายได้เองโดยไม่ต้องกินยาต้านแบคทีเรีย เช่น ไข้หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ยาต้านแบคทีเรียไม่ช่วยให้หายเร็วขึ้นและไม่ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนใดๆ ถ้าผู้ป่วยพักผ่อนเพียงพอ ดื่มน้ำเพียงพอ และรับประทานยาตามอาการก็จะหายในเวลาไม่นาน ส่วนอุจจาระร่วง จุดสำคัญคือการดื่มน้ำเกลือแร่ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และแผลสะอาดก็เพียงแต่ทำความสะอาดแผลให้ดี และทำความสะอาดแผลอย่างถูกต้องแผลก็จะหายได้โดยไม่ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียเช่นกัน