- 02 พ.ค. 2560
2 พ.ค.รำลึก 34 ปี การจากไป เปิดบันทึกฉากชีวิตลี้ภัย รัฐบุรุษอาวุโส “ปรีดี พนมยงค์”
“มาบัดนี้ พ่อลาลับไปจากโลก
ยังความโศกความอาลัย ให้สุดแสน
ลูกชาวธรรมศาสตร์ ประกาศแทน
จะยึดแน่นอุดมการณ์ที่ท่านทำ”
ท่อนแรกของเพลง “ปรีดี พนมยงค์” ที่ขับร้องโดยสุรชัย จันทิมาธร บอกเล่าถึงความโศกเศร้าเสียใจต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของรัฐบุรุษอาวุโส “ปรีดี พนมยงค์” ที่ถึงอสัญกรรมในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526
แม้ล่วงเลยถึง 34 ปีแล้วสำหรับการจากของ “ปรีดี” แต่นักปฏิวัติหัวก้าวหน้าผู้นี้ยังคงอิทธิผลต่อคนรุ่นหลังอยู่ไม่น้อย ยิ่งในยุคที่การเมืองร้อนแรงเช่นทุกวันนี้ ฝ่ายหนึ่งยกย่องให้เขาเป็นดั่งศาสดาแห่งประชาธิปไตย ขณะที่อีกฝ่ายมองเขาอย่างโกรธแค้น ชิงชัง สาบแช่งอย่าให้ได้ผุดได้เกิด
24 มิถุนายน 2475 “ปรีดี พนมยงค์” เป็นหนึ่งในคณะราษฎร ร่วมกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศ จากระบอบเก่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่สากลประชาธิปไตย ด้วยความมุ่งหวังให้สยามได้พัฒนาสู่ความทัดเทียมนานาอารยะ
รัฐบาลของคณะราษฎร แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนแรกของสยามคือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จากนั้นไม่นานความไม่ลงรอยระว่างคณะผู้ก่อการก็เกิดขึ้น
ในปี 2476“ปรีดี”เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ “สมุดปกเหลือง” แต่“สมุดปกเหลือง”นี้ถูกมองว่าเป็นแนวคิดคอมมิวนิสต์ ถูกคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายไม่เห็นด้วย และในที่สุด “ปรีดี” ก็ถูกขอให้เดินทางออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราว แต่ไม่นานก็กลับมา ต่อมาในปี 2477 เขาได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น ตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ที่ประกาศว่าจะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่
ขณะที่ จอมพล ป พิบูลสงคราม ขึ้นมามีอำนาจสูงสุด บทบาทของ “ปรีดี” ก็ถูกกระชับให้แคบลง แต่ในขณะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น “ปรีดี” ได้ก่อตั้งเสรีไทย ทำงานใต้ดิน ตัดกำลังทหารญี่ปุ่นที่ใช้ไทยเป็นฐานทัพในการสู้รบกับประเทศพันธมิตร ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม สัมพันธมิตรได้รองรับเอกราชอธิปไตยของไทย รองรับการมีอยู่ของเสรีไทย ส่งผลให้ไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศแพ้สงคราม จนต่อมาปี 2489 “ปรีดี” ก็ได้ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 และ 2
แต่อยู่ได้ไม่กี่เดือนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดลสวรรคต “ปรีดี” ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาเกิดรัฐประหารในปี 2490 เขาจึงลี้ภัยไปประเทศจีนและฝรั่งเศส รวมเป็นเวลากว่า 36 ปีที่ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน
“ปรีดี พนมยงค์” บันทึกฉากชีวิตการลี้ภัยครั้งนั้นว่า
“เดือนพฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารของฝ่ายทหาร โดยการสนับสนุนของพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัด และพวกคลั่งชาติโค่นล้มรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกของข้าพเจ้า พวกเขาได้บุกเข้าไปในบ้านเพื่อทำลายชีวิตข้าพเจ้า รวมทั้งภรรยาและบุตรเล็กๆ หาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกรณีการสวรรคต จอมพลพิบูลฯ ซึ่งถูกปล่อยก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน เพราะกฎหมายอาชญากรรมสงครามไม่มีผลย้อนหลังมาบังคับใช้ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ทำให้มีอำนาจควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐ คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมอีกต่อไป แต่มาจากการแต่งตั้งโดยตรงของประมุขแห่งรัฐ โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ก่อนรัฐประหารอายุต่ำสุดของผู้สมัครรับเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรกำหนดไว้ที่ 23 ปี ซึ่งเท่ากับอายุต่ำสุดของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม มาตรานี้ก็ใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะต่อมาประเทศไทยก็ถูกปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญฟาสซิสต์ กึ่งฟาสซิสต์ และฟาสซิสต์ใหม่ ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองหลายประการ”
“รัฐบาลใหม่ประกอบด้วยพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาไม่กี่เดือนทหารก็จี้ให้รัฐบาลชุดนี้ลาออก และจอมพลพิบูลฯ ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง”
“การหลบหนีครั้งที่ 1 คืนวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมบ้านพักออกไปได้อย่างหวุดหวิด และข้าพเจ้าได้ไปพักอยู่กับเพื่อนทหารเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทยเพื่อลี้ภัยไปอยู่ในสิงคโปร์ก่อน โดยรอขอระยะเวลาที่เหมาะสม ในการเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนอย่างสันติ...”
“ปรีดี” ไม่คิดเลยว่าการเดินทางออกนอกแผ่นดินไทยครั้งนั้นจะเป็นการจากแผ่นดินเกิดอย่างถาวร
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปี ในจีน”