- 02 พ.ค. 2560
สื่อร้อง “บิ๊กตู่” เพื่อผลประโยชน์ชาติ!!ถ้ารัฐคิดว่าต้องควบคุมข้อมูลข่าวสารแล้วใครจะตรวจสอบรัฐ
วันที่ 2 พ.ค.2560 นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. คัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะเห็นว่า การมีตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ตามร่างกฎหมายนั้นขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่การทำงานของสื่อมวลชนที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบกลายมาเป็นผู้ตรวจสอบเสียเองก็เกิดกรณีที่อาจมีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ได้เป็นอำนาจซ้ำซ้อนที่ไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องมีธรรมาภิบาลมีความโปร่งใส
สมาคมนักข่าวฯ ร้องถึง “บิ๊กตู่” 1 วัน หลังสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.ลงมติด้วยคะแนน 141:13เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับควบคุมดูแลการทำงานของสื่อมวลชน เป็นกฎหมายที่สื่อมวลชนมองว่าเป็นปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่และเปิดทางให้ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน นั่นหมายถึงสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอย่อมหายไปโดยเฉพาะสิทธิ์การตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
“สื่อมวลชน”ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ จะครอบคลุมไปถึงสื่อออนไลน์ เช่น เพจที่มีแฟนเพจติดตามเป็นหมื่นๆคน เพราะกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นทั้งนักข่าวและบรรณาธิการ แม้ไม่มีสังกัดและจะอ้างว่า ไม่มีรายได้เป็นค่าตอบแทนโดยตรง แต่มีรายได้ทางอ้อมเกิดขึ้นจากรายได้โฆษณาออนไลน์ เพราะมีผู้ติดตามจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องบัญญัติให้กลุ่มเหล่านี้เป็นสื่อด้วย
ประเด็นหลักที่กังวลคือในร่างกฎหมายกำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพ และส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองในทุกขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทำหน้าที่ขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 15 คน มีโควตาตัวแทนคณะกรรมการฯจากภาครัฐจาก 2 คน คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงวัฒนธรรมส่วนโควตาคณะกรรมการฯที่เป็นตัวแทนจากสื่อจะมี 7 คนส่วนที่เหลืออีก 6 คน จะคัดเลือกจากคนนอก เช่น นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ
การปฏิรูปงานด้านสื่อมวลชนเป็นหนึ่งใน 27 วาระปฏิรูปเร่งด่วนที่ สปช. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 นี้ แนวคิดดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เห็นว่าควรจะต้องพัฒนาการทำหน้าที่สื่อมวลชนไทยเสียที
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์2560ว่า “ประเด็นสำคัญคือสื่อต้องควบคุมตัวเองให้ได้ ถ้าหากมีเรื่องมีราว ต้องคุมได้ และคุมได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่บิดเบือนแล้วใครจะไปยุ่งกับท่าน ถ้าบิดเบือนแล้วท่านจะแก้ปัญหากันอย่างไร การแก้ปัญหาผมเคยประสานไป ท่านก็บอกว่าไม่มีอำนาจ และผมจะให้มีอำนาจขึ้นมา ก็ไม่เอา ไม่ให้ข้าราชการเข้าไป บอกว่าจะคุมกันเอง จะคุมกันยังไง ถ้ามีคดีมีเรื่องราว จะสั่งการอย่างไร”
“ผมกำลังให้ดูอยู่ว่าประเทศไหนมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร อย่ามาบอกว่าเขาไม่มี เราจะทำอย่างไรให้ของเราเหมาะสม”
นั่นเป็นเพราะ “บิ๊กตู่” มองว่า สื่อมวลชนยังไม่มีเอกภาพที่จะกำกับดูแลตัวเอง จึงคิดว่าสมควรแล้วที่จะมีองค์กรกลางขึ้นมาควบคุมดูแล และเพื่อความมั่นใจจึงต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการด้วย
ในทางกลับกัน สื่อมวลชนกลับมองว่า การเข้ามาของฝ่ายรัฐนั้นจะเป็นการแทรกแซง ปิดกั้น จนกลายเป็นการคุกคามหน้าที่หลักของสื่อมวลชน นอกจากจะต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างถูกต้องและเที่ยงธรรมแล้ว สื่อมวลชนยังมีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติอันหลายถึงผลประโยชน์ของประชาชน สื่อมวลชนต้องสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน เมื่อพบความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการทำงานของฝ่ายรัฐ และที่ผ่านมาสื่อมวลชนต่างทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การจะทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายรัฐได้นั้น สื่อมวลชนต้องมีความเป็นอิสระ มีเสรีภาพในการนำเสนอเนื้อหาอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ในทางกลับกันสื่อมวลชนจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาเช่นนั้นได้เลย หากฝ่ายรัฐเข้ามามีบทบาทในการกำกับ ควบคุม แทรกแซงการทำงานของสื่อ
ทั้งหมดนี้เป็นการมองในมุมที่แตกต่าง ขณะที่สื่อมวลชนมองว่า เมื่อปราศจากเสรีภาพในการตรวจสอบรัฐ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ชาติแทนประชาชน แต่รัฐกลับมองว่า การทำหน้าที่ของสื่อนั้น ควรให้รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ คงต้องเปิดใจรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย แล้วเดินหน้าไปพร้อมๆกัน
///
เมืองขมิ้น
///