- 16 พ.ย. 2560
องค์กรผู้หญิง ยื่นจดหมายถึงอัยการสูงสุด ให้วินิจฉัยชี้ขาดสั่งฟ้อง ขรก.และผู้มีชื่อเสียง คดีซื้อประเวณีเด็กแม่ฮ่องสอน หลังอัยการจังหวัดไม่สั่งฟ้อง
วันนี้(16พ.ย.60) เวลา10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม พร้อมด้วย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน องค์กรด้านเด็กและเยาวชน กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เพื่อขอให้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด สั่งฟ้องคดี ข้าราชการ ตำรวจ ผู้มีชื่อเสียง ที่เข้าไปพัวพันซื้อประเวณีเด็ก จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากล่าสุด ทางอัยการจังหวัดแม่ฮ่องสอนสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว
นางทิชา กล่าวว่า ภาคประชาสังคมได้ตรวจสอบและติดตามความคืบหน้า คดีค้าประเวณีเด็กและการค้ามนุษย์จังหวัดแม่ฮ่องสอนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้เสียหายที่เป็นเด็กและเยาวชน ระบุว่ามีข้าราชการในพื้นที่ รวมถึงข้าราชการระดับสูง เป็นผู้ซื้อประเวณีด้วย กระทั่งเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ได้รับการเปิดเผยจากนายตำรวจระดับสูงของสำนักงานกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 นายหนึ่งระบุว่า อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ผู้ที่ไปมีส่วนพัวพันกับคดีการซื้อบริการประเวณีเด็กในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนแม่เล้าและผู้จัดหายังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดี ซึ่งเบื้องต้นทางตำรวจภูธรภาค 5 กำลังทำความเห็นแย้งไปยังอัยการสูงสุด
นางทิชา กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว เครือข่ายภาคประชาสังคมรู้สึกกังวลต่อการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการ ซึ่งมีบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและนำความจริงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มีเจตนารมณ์ที่จะป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี โดยเฉพาะการใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้าประเวณี หรือการใช้บริการการค้าประเวณีเด็กหรือเยาวชน อาศัยความอ่อนด้อย พรากเด็กผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมจึงขอความเป็นธรรมจากท่านอัยการสูงสุดให้พิจารณาทบทวนคำสั่งของพนักงานอัยการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยขอให้มีคำสั่งชี้ขาดความเห็นแย้งให้ฟ้องคดีดังกล่าวด้วย เพื่อให้ความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การใช้บริการทางเพศ หรือกระทำอนาจารเด็กหรือเยาวชน เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ อาทิ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายค้ามนุษย์
2. การนำเด็กและเยาวชนมาแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี ถือเป็นการพรากเด็กและ
เยาวชน ไปเพื่อการอนาจาร ละเมิดต่ออำนาจปกครองของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง อันเป็นความอาญาแผ่นดิน โดยที่ผ่านมามารดาและผู้ปกครองของเด็กได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชน เพื่อดำเนินคดีเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเด็กหรือใช้บริการการค้าประเวณีเด็กในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมาโดยตลอด
3.การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ใช้บริการการค้าประเวณีเด็กหรือเยาวชนอย่างเข้มงวดจริงจัง ทำให้ปัญหาการค้าประเวณีเด็ก ไม่หมดจากสังคมไทย และยังอาศัยช่องว่างของกฎหมายในการกระทำความผิดอยู่เรื่อยมา การบังคับใช้กฎหมาย จึงไม่เป็นไปเจตนารมณ์ที่มุ่งหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีเด็กหรือเยาวชนให้หมดไปสังคมไทย
ด้านนางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีเด็ก เท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ดังนั้นอยากขอวิงวอนให้ท่านอัยการสูงสุด พิจารณาทบทวนคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีคำสั่งชี้ขาดความเห็นแย้งให้ฟ้องคดีดังกล่าวด้วย