- 28 เม.ย. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
จากกรณีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำตัวอย่างสมุนไพรนายแสงชัย แหเลิศตระกูล หรือ"หมอแสง" ทดลองตัวยาที่มีความเข้มข้นต่างกัน โดยทดสอบกับเซลล์มะเร็ง 7 แบบ คือ มะเร็งเต้านม 3 ชนิด มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งผลในหลอดทดลองพบว่าตัวฤทธิ์ของสมุนไพรไม่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ แต่ในเรื่องของคุณภาพชีวิตนำไปศึกษาต่อสามารถใช้ได้
ล่าสุดรศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะอุปนายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ออกมาเปิดเผยด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุข ควรต้องประกาศให้ชัดเจนว่าไม่ได้ผล คือ ไม่ได้ผล เพราะหากบอกว่ามีผลในเรื่องของคุณภาพชีวิตก็ต้องมีผลในเรื่องการศึกษาหรือเปรียบเทียบให้ชัดว่า ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างไร
“เพื่อให้สาธารณะทราบข้อเท็จจริงอย่างแท้จริง เช่น มีการเปรียบเทียบระหว่างกินกับไม่กิน ผลเป็นอย่างไร ส่วนที่ระบุว่า อาจทำให้มีผลต่อสภาพจิตใจ ทำให้มีกำลังใจ นั่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าเซลล์มะเร็งไม่ได้ตายหรือหายไป ดังนั้น การจะมาพูดว่าทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็ต้องพูดให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นสังคมอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน
การจะพูดว่าอาการดีขึ้นจากการรับประทานสมุนไพรนั้น วัดได้ยาก หากไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน เพราะอาจเป็นผลดีที่สืบเนื่องจากการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันอยู่แล้ว หรือคนไข้เพิ่งผ่านการรักษาจนจบคอร์ส ทั้งการฉายแสง การทำคีโมบำบัด และเมื่อมารับประทานสมุนไพรก็อาจดีขึ้น เนื่องจากฟื้นตัวแล้ว ตรงนี้จึงบอกไม่ได้ว่า เป็นผลดีจากอะไรกันแน่ ซึ่งกรณีที่นายแสงชัยบอกว่า หลายคนกินแล้วดีขึ้น ก็ต้องมีตัวชี้วัดว่าดีเพราะอะไร”
ทั้งนี้เมื่อนายแสงชัย จะยังแจกสมุนไพรต่อไป เพราะเป็นแค่การวิจัยในหลอดทดลอง ไม่ได้ทดลองในมนุษย์ โดยหลักของการศึกษาวิจัยต้องเริ่มจากหลอดทดลองในห้องปฏิบัติการ หากไม่ส่งผลใดๆ ก็จบ เพราะหากไม่ส่งผลแล้วก็ไม่จำเป็นต้องศึกษาวิจัยในมนุษย์ แต่หากส่งผลดีก็จะวิจัยต่อในมนุษย์ และการจะทดสอบในมนุษย์ก็ต้องผ่านคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ด้วย แต่นายแสงชัยไม่ได้มีตรงนี้ และพฤติกรรมการแจกสมุนไพร แม้จะบอกว่าเป็นแคปซูล ไม่ได้บอกว่าเป็นยา แต่พฤติกรรมมีการแจก และยังจดรายละเอียดผู้ป่วย ซึ่งพฤติกรรมเหมือนหมอ แต่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ แบบนี้ไม่ถูกต้อง ที่สำคัญกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กลับให้ใบรับรองหมอพื้นบ้าน ดูความเหมาะสมหรือไม่ เพราะกรณีนี้มีการแจก มีคนไปต่อคิวรับจำนวนมาก และไม่มีทางทราบเลยว่า ใครรับประทานไปแล้วผลหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร
“เรื่องนี้ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบ อย่าง สธ.ถือเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องนี้ และควรต้องมีข้อบังคับ หรือกฎหมายอะไรหรือไม่ มิเช่นนั้น ในอนาคตก็จะมีเคสแบบนี้เกิดขึ้นอีก มีคนไปรอรับคิวสมุนไพร หรืออะไรก็ตามที่อาจบอกว่ารักษาโรคนั้นโรคนี้ได้ ยิ่งโรคมะเร็งยิ่งน่ากลัว และพอเขามาขอยื่นใบรับรอหมอพื้นบ้านก็ให้หมด และพอตรวจสอบสารออกฤทธิ์แล้วไม่พบประสิทธิภาพ แต่ก็ยังให้แจกต่อไปอีก แบบนี้ความเสี่ยงก็อยู่ที่ประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการควบคุมให้ดีหรือไม่”รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าว