- 30 พ.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
จากกรณีนายยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Add Carabao กล่าวถึงเรื่องสมมุติ สังคมไทย และมนุษย์ โดยพาดพิงถึงอดีตพระพุทธะอิสระในเรื่องสมมุติ ซึ่งมีการนำคำสอนของสมเด็จพระปยุตโตมาเผยแพร่ไว้ด้วย พูดถึงปัญญาชนที่กราบไหว้อดีตพระรูปนี้โดยชี้ให้เห็นว่านี่คือความไม่ประสีประสา จากนั้นก็เกิดกระแสโจมตีศิลปินผู้นี้ว่ามีความเข้าใจในธรรมะจริงแท้แค่ไหนถึงกล้าออกมาวิจารณ์อดีตพระพุทธะอิสระ
ทั้งนี้จากการตรวจสอบย้อนหลังไปในเฟซบุ๊ก Add Carabao ก็พบว่ามีความน่าสนใจเกี่ยวกับความสนใจในพระพุทธศาสนาของน้าแอ๊ด คาราบาว เป็นอย่างยิ่งเพราะจะพบว่าแทบทุกวันจะมีการนำข้อคิด หลักธรรมะต่างๆมาลงเผยแพร่ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบว่าเมื่อวันที่ 18 เมษายน ได้โพสต์เล่าถึงที่มาที่ไปในการเข้าสนใจพระพุทธศาสนา จึงขอนำเนื้อหาทั้งหมดมาเผยแพร่ต่อเพื่อให้รู้ว่าศิลปินผู้นี้มีหลักคิด หลักปฏิบัติในเรื่องธรรมะอย่างไร
....ถ้าผมไม่ได้พบคำสอนจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จปยุตฺโต ผมคงไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ไม่รู้จักว่าอะไรคือธรรม และสุดท้ายคงตายไปด้วยความโง่เขลา เปลี่ยวเหงา สับสน....
มันเริ่มต้นแบบไม่ค่อยได้ตั้งใจนัก ผมมีพี่ชายที่รักเคารพยิ่งท่านเป็นคุณหมอผ่าตัดฝีมือดี ผมเคยถามว่าพี่หมอครับเกษียณเเล้วทำอะไรดี ท่านบอกว่าจะไปเรียนภาษาเสปน เพราะพออายุมากขึ้นต้องหาเรื่องอะไรๆก็ได้ที่ไม่เคยรู้มาศึกษา สมองจะได้ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ผมจำประโยคนี้ฝังใจเลยครับ จากนั้นก็ได้คุยกับพี่ชายที่รักเคารพยิ่งอีกท่านหนึ่ง คืออาจารย์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นั่นเเหละครับ
ผมถามพี่เสกว่ากำลังค้นคว้าอะไรอยู่ พี่เขาบอกว่า”พระพุทธศาสนา” ผมแปลกใจว่าอาจารย์รัฐศาสตร์ผู้เป็นเลิศ เกิดมาสนใจพระพุทธศาสนา แสดงว่าต้องมีอะไรดีเเน่นอน...ตั้งเเต่ได้ยินพี่ทั้งสองท่านว่ามาแบบนี้ ด้วยความศรัทธาในตัวพี่ทั้งสองก็เลยลองมาศึกษาพระพุทธศาสนาดู เเรกๆก็ไปดูไปตามอาจารย์โน้นที อาจารย์นี้ที ก็ได้เเต่เป็นเรื่องๆไปจับหลักอะไรไม่ได้ แต่เเล้ววันหนึ่งก็เห็นหนังสือ”พุทธธรรม(ฉบับเดิม)”วางอยู่ในตู้หนังสือ ตรงหน้าผมพอดีแบบว่าบังเอิญมาก คงมีใครให้ผมมาเเล้วผมก็เก็บใส่ตู้ไว้เเบบไม่ได้สนใจ วันนั้นเป็นเรื่องแปลกมากนึกถึงหนังสือพุทธธรรม แหงนหน้ามาก็เจอเลย จากนั้นก็เริ่มอ่านจากเล่มเเรก 300หน้า มาเป็นเล่มใหญ่1300หน้า(ฉบับปรับขยาย)อ่านกลับไปกลับมา สนใจเรื่องไหนทีก็มาเปิดค้นหา เป็นอย่างนี้ตลอด
จากนั้นก็มาฟังเสียงธรรมจากยูทูปที่มีเเทบทุกบททุกตอนที่ท่านสมเด็จฯท่านได้เทศนาไว้ ผมตั้งใจฟังทุกวัน ฟังแทบทุกเรื่อง เรื่องไหนไม่เข้าใจก็ฟังซ้ำ ฟังแล้วฟังอีก แล้วใช้วิจารณาญานของตนสรุปประเด็น มีโอกาสก็ไปเล่าต่อ เเลกเปลี่ยนกับพรรคพวกที่สนใจในธรรม เพื่อเป็นการทบทวนที่เรียนมา เป็นอยู่อย่างนี้มา4ปีเต็มๆแล้วครับ ไม่มีคำว่าเบื่อ ผมพบว่าการสอนของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯนั้นเหมาะกับนิสัยผม ผมเป็นนักออกแแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาคารหรือด้านเพลง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จท่านก็เคยพูดว่าตัวท่านเองสมัยเด็กนั้นอยากเป็นนักประดิษฐ์(ดูรูป ผลงานประดิษฐ์ของท่าน)นี่กระมังที่ทำให้ผมชื่นชมกับวิธีการแสดงชี้แจงหรือการสอนของท่าน ตัวอย่างต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมได้มาจากการเรียนรู้จากท่าน ผมขอยกตัวอย่างสักเรื่องมาเล่าให้ฟังนะครับอาจใช้เวลาหน่อยต้องขออภัยด้วย
“ชีวิตที่ดีงาม”
ทันโต เสฐโธ มนุเสสุ แปลว่าในหมู่มนุษย์ทั้งหลายผู้ฝึกตนดีแล้วประเสริฐสุด เป็นพุทธพจน์ที่ตถาคตทรงตรัสไว้ ไม่ต้องดูอื่นไกล ตถาคตนี่เเหละคือมนุษย์ที่พิสูจน์คำกล่าวนี้ มนุษย์ที่ฝึกตนดีเเล้วจะเป็นพุทธ(คำว่าพุทธนี้ประกอบด้วย ธ=ธรรมดา คือความจริงของสิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามกฏธรรมชาติ ท=ธรรมจริยา คือการปฏิบัติที่ตรงกับเหตุปัจจัยเป็นไปตามกฏธรรมชาติ)ผู้ที่จะฝึกตนให้เป็นพุทธได้จะต้องฝึกทั้งสามด้านคือด้าน พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ที่เรียกว่าไตรสิกขานั่นเอง พฤติกรรมก็เป็นเรื่องของศิลข้อปฏิต่อตนเองเเละสังคม จิตใจก็เป็นเรื่องของสมาธิอันเป็นแกนกลางของจิต ปัญญาคือความรู้ที่จะเป็นตัวเชื่อมมนุษย์เข้ากับกฏธรรมชาติ พระพุทธศาสนานั้นจะเน้น”ปัญญาเป็นหลัก”ศรัทธาเป็นเพียงองค์ประกอบสำคัญที่จะคอยช่วยพยุงเราไปให้ถึงปัญญา เเละปัญญาสูงสุดของชาวพุทธคือการตรัสรู้เป็นพุทธหรือเป็นพระก็เป็นพระอรหันต์นั้นเอง
สังคมของมนุษย์ในชมพูทวีปหรืออินเดียโบราณในสมัยพุทธกาลนั้น มีการนับถือศาสนาโบราณอยู่ก่อนเเล้ว ซึ่งเป็นศาสนาที่ใช้แต่ศรัทธา บวงสรวงวิงวอนขอผลดลบันดานจากเทพเทวดา เป็นศาสนาที่เรียกว่าเป็นเครื่องกล่อมจิตใจ ดังคำพูดที่คนชอบพูดกันว่า “ศาสนาคือที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนที่เป็นทุกข์ เป็นเครื่องปลอบประโลมใจให้คลายทุกข์ให้มีแต่ความสุข”ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ตถาคตคงไม่ต้องมาเกิด แต่ไม่ใช่....ตถาคตเห็นว่านี่คือหนทางที่ยังไม่ถูกต้อง มนุษย์เรานั้นเมื่อมีทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้เอาชีวิตรอดและไต่เต้าไปสู่ความสุขสบายในที่สุด จึงทำให้เกิดอารยะธรรมความเจริญของมนุษย์แต่เมื่อเขามีวัตถุเสพพรั่งพร้อมเเล้วก็เอาเเต่สบายปล่อยวางเสพความสุขไปเรื่อยๆ สังคมก็จะค่อยๆเสื่อมลงๆเเละล่มสลายไปในที่สุด ก็ค่อยเริ่มดิ้นรนขนขวายกันใหม่ อารยะธรรมของมนุษย์ชาติเวียนว่ายในความเจริญแล้วเสื่อมๆๆๆเป็นเช่นนี้มานานนัก ตถาคตเห็นว่านี่ยังไม่ถูก ที่ว่าเจริญนั้นเจริญแค่บางด้าน หาได้เป็นความเจริญที่สมบูรณ์เป็นไปตามความจริงของกฏธรรมชาติไม่ ส่วนอีกทางหนึ่งก็หันมาหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์วิงวอนให้ท่านช่วยโดยตนเองไม่กระทำการใดๆ เรียกว่านอนรอผลดลบันดานอย่างเดียว ทางนี้ก็ไม่ใช่อีกเป็นเรื่องสุดโต่งทางความคิด เมื่อเป็นเช่นนี้ตถาคตจึงค้นหา”ทางสายกลาง”ที่จะนำพามนุษย์ไปพบกับความสุข ความเจริญที่เเท้จริง นั่นคือสุขที่ไม่เสื่อม ความเจริญที่ไม่เสื่อม พระพุทธศาสนาถึงเกิดขึ้นจากความคิดนี้ของตถาคตท่ามกลางศาสนาโบราณที่มีอิทธิพลอยู่ก่อนหน้าแล้ว
ในฐานะที่มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ชีวิตมนุษย์ก็ย่อมเป็นไปตามกฏของธรรมชาติด้วย มนุษย์จึงจำเป็นต้องรู้จักชีวิตของตนเองด้วย จึงจะมีชีวิตที่ดีได้ พระพุทธศาสนาให้ทางสว่างแก่มวลมนุษยชาติคือ สอนให้เรารู้ว่า”ชีวิตที่ดีคืออะไร และควรทำอย่างไร....”
นี่แหละครับกับเวลา4ปีที่ผมค้นหาพระพุทธศาสนา ผมคิดว่าผมได้เจอครูพระเเล้วครับ สำหรับผมเรียนจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จปยุตฺโต ก็เท่ากับได้เรียนจากพระพุทธเจ้าจริงๆครับ
ขอบคุณเฟซบุ๊ก : Add Carabao