- 20 พ.ย. 2561
คปภ. มีข้อสรุปการปรับปรุงความคุ้มครองของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ สั่งประกันภัยต้องจ่ายชดเชย วันละ1,000 ให้เจ้าของรถ ระหว่างรอซ่อม พบ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบ
จากกรณีนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกมาเปิดเผยถึงการดำเนินงานของคปภ. ซึ่งได้ข้อสรุปการปรับปรุงความคุ้มครองของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ให้แก่เจ้าของรถยนต์ที่ทำประกันและอยู่ระหว่างนำไปเคลมซ่อมแล้ว โดยจะกำหนดการจ่ายเป็น 3 กลุ่มให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่ยังมีความคลุมเครือทำให้เกิดปัญหาร้องเรียนเข้ามา
ทั้งนี้ประกอบด้วย กลุ่มแรก รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งกำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท กลุ่มที่ 2 รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท และกลุ่มที่ 3 รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่งกำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
“ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ มียอดร้องเรียนมากเป็นอันดับ 1 เรื่องส่วนใหญ่ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนคือบริษัทประกันไม่ยอมจ่ายค่าขาดประโยชน์ เพราะประชาชนไม่มีความรู้ หรือมีการจ่ายในอัตราที่ต่ำ เพราะก่อนหน้านี้ระเบียบได้กำหนดให้จ่ายตามฐานานุรูปขนาดของเครื่องยนต์ และความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทประกัน ดังนั้นจึงต้องปรับหลักเกณฑ์ใหม่ให้ชัดเจน โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหารือเรื่องนี้ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยโดยเฉพาะจนสามารถหาข้อสรุปได้แล้ว”
ทั้งนี้เลขาฯคปภ. ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างคำสั่งนายทะเบียนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และจะบังคับใช้ได้ในต้นปีหน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ช่วยลดปัญหาข้อร้องเรียนได้ และเมื่อมีคำสั่งนายทะเบียนออกมาแล้วบริษัทจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกำหนดอัตราค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยและจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
“หากฝ่าฝืนมีความผิดฐานขัดคำสั่งนายทะเบียน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย อาจถือได้ว่าบริษัทจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย หรือข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มีความชัดเจนให้บริษัทมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือบุคคลผู้มีสิทธิ์เรียกร้องหรือได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษในอัตราที่สูง ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และถ้าเป็นกรณีการกระทำผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 2 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่”