- 14 ธ.ค. 2561
สดร. ชวนนับดาว "ฝนดาวตกเจมินิดส์" ด้วยตาเปล่า คืนวันที่ 14 ธ.ค. โต้รุ่งถึงเช้าวันที่ 15 ธ.ค. 2561
หนึ่งปีมีครั้งเดียว สำหรับ"ฝนดาวตกเจมินิดส์" โดยทาง นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธันวาคมของทุก ๆ ปี ในปี 2561 นี้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 120 ดวงต่อชั่วโมง
โดยศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวคนคู่จะขึ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 20.05 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่มีแสงจันทร์รบกวนในช่วงหัวค่ำ ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 23.30 น. ดังนั้น จะสามารถสังเกตฝนดาวตกได้ชัดเจนตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 14 ไปจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธันวาคม 2561
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจชมปรากฎการณ์ฝนดาวตกควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ฝนดาวตกเจมินิดส์มีจุดเด่นคือมีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประกอบกับมีอัตราตกค่อนข้างมากจึงสังเกตได้ง่าย สามารถมองเห็นได้รอบทิศ ถือเป็นโอกาสดีในการสังเกตการณ์ฝนดาวตก และในปีนี้ สดร. จัดกิจกรรมดาราศาสตร์ ต่อเนื่องด้วยการชมฝนดาวตกเจมินิดส์ตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ค่ำวันที่ 14 ธันวาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา (โทร. 084-088 -2264) และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา (โทร.086-429-1489) จึงขอเชิญชวนผู้สนใจและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว #ฟรี!!! ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม
ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดเรเดียนท์ (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือ ดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น
ขอบคุณ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page