- 19 ม.ค. 2562
ทรงห่วงมาโดยตลอด ครั้งสมเด็จพระราชินี ทรงห่วงพระสงฆ์ภาคใต้เหลือน้อย เปิดสถิติภิกษุถูกทำร้ายทั้งระเบิด ยิง ฟัน
จากกรณีคนร้ายแต่งชุดดำคล้ายทหารพราน6 คน ขณะพระกำลังนั่งคุยกันอยู่ กลุ่มคนร้ายเดินตรงเข้ามา แล้วก็กราดยิงด้วยอาวุธสงครามทั้งนี้ทำให้พระสงฆ์มรณะ 2 รูป บาดเจ็บ 2 รูป นำส่ง รพ.สุไหงโก-ลก ทราบชื่อดังนี้ 1. พระครู ประโชติ รัตนานุรักษ์ (ท่านสว่าง) เจ้าอาวาส และเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี มรณะในที่เกิดเหตุ 2. พระสมุห์ อรรถพร ขุนอำไพ (ท่านอู๊ด) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส มรณะในที่เกิดเหตุ 3. พระธนโชติ ชุมเลิศ (หลวงพ่อแดง) ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลถูกยิงที่ไหล่ซ้าย ส่งต่อโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ล่าสุดปลอดภัยแล้ว 4. พระประเวศ สุขแก้ว (พระยาน) ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลเปิดบวมผิดรูปบริเวณต้นขาขวา และมีแผลเปิดที่ไหล่ขวา ส่งต่อโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และปลอดภัยแล้วนั้น
ทั้งนี้จากการเหตุการณ์ทำร้ายพระภิกษุสงฆ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้รายล่าสุดทำให้ นึกถึงครั้งหนึ่งคือเมื่อ 7ปีก่อน โดยเมื่อวันที่8ส.ค.2555 พล.อ.ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ ได้ออกมา เปิดเผยว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงพระสงฆ์ในภาคใต้อย่างมาก เนื่องจากขณะนี้พบว่า “พระสงฆ์จำนวนมากได้ลาสิกขาบท และย้ายออกจากบริเวณที่เกิดปัญหาทางภาคใต้ ทำให้ประชาชนที่ยังนับถือพุทธศาสนาไม่มีขวัญกำลังใจ และไม่สามารถประกอบพิธีทางศาสนาได้ ดังนั้น ทางกองทัพได้รับสนองพระราชเสาวนีย์ในการขอความร่วมมือ ถามความสมัครใจไปยังพระสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ในการที่จะไปจำวัดในภาคใต้ให้ได้วัดละ 5 รูป ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมต่างๆได้ ยังเป็นขวัญกำลังใจแก่คนในพื้นที่ด้วย” รองสมุหราชองครักษ์ กล่าว
สำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นที่รับทราบกันทั่วไปว่าประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 85 นับถือศาสนาอิสลาม แต่พื้นที่แห่งนี้ก็ยังมีวัดและที่พักสงฆ์ รวมทั้งพระและสามเณรจำวัดอยู่ในพื้นที่กว่า 1,000 รูปด้วย
นอกจากนี้ข้อมูลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุไว้เมื่อปี2558 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพระและสามเณรรวม 1,038 รูป มีวัดและที่พักสงฆ์ 248 แห่ง แยกเป็นจังหวัดยะลา มีพระภิกษุและสามเณร 269 รูป วัดและที่พักสงฆ์ 63 แห่ง , จังหวัดปัตตานี มีพระภิกษุและสามเณร 436 รูป วัดและที่พักสงฆ์ 92 แห่ง และจังหวัดนราธิวาส มีพระภิกษุและสามเณร 333 รูป วัดและที่พักสงฆ์ 93 แห่ง ขณะที่ พระ เณร วัด และสัญลักษณ์ทางศาสนาต่างๆนั้นตามการจัดพื้นที่ถือเป็นเป้าหมายอ่อนแอ 2 ใน 10 เป้าหมายที่ฝ่ายความมั่นคงมีมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ ซึ่งตลอดเวลาหลายสิบปีมาก็ยังมีพระ เณร ถูกทำร้ายให้บาดเจ็บ มรณภาพ รวมทั้งวัดเองก็ตกเป็นเป้าหมายการก่อความไม่สงบด้วย
อย่างไรก็ตามจากสถิติที่มีการเก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. พบว่า มีพระและเณรมรณภาพจากสถานการณ์ความไม่สงบไปแล้ว (ณ เดือนกรกฏาคม 2558) จำนวน 19 รูป บาดเจ็บ 26 รูป โดยลักษณะความรุนแรงที่พบมากที่สุดคือการลอบวางระเบิดที่มากกว่า 22 ครั้ง ลอบยิง 7 ครั้ง ใช้ของมีคมฟัน 4 ครั้ง และวางเพลิง 2 ครั้ง โดยจังหวะเวลาที่เลือกก่อเหตุ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจะใช้โอกาสช่วงใกล้วันสำคัญทางพุทธศาสนา เพื่อสร้างกระแสให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวในวงกว้าง อีกทั้งยังมีจุดประสงค์ที่ต้องการสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนชาวไทยพุทธและมุสลิมด้วย