- 04 ก.พ. 2562
เดินหน้าปฏิบัติการลดฝุ่นละอองพิษ "ตึกใบหยก" ทำตัวอย่างฉีดพ่นน้ำชั้น 80 กว่า เฝ้าระวังเข้ม 13-15 ก.พ.อากาศปิด
จากกรณีที่สถานการณ์ฝุ่นควันพิษ PM2.5 ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานครและประชาชนในเขตปริมณฑลเป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณฝุ่นนั้น เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสถานการณ์ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานว่าสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เฉลี่ย 24 ชม. พบว่าปริมาณฝุ่นลดลงตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คุณภาพอากาศดี-ดีมากทุกพื้นที่ ซึ่งค่ามาตรฐานฝุ่นละอองอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
โดยกทม.ร่วมกับโรงเรียนการบินกรุงเทพมหานคร นำเครื่องบินเล็กโปรยละอองน้ำ เหนือพื้นที่เขตบางแค บางบอน ทวีวัฒนา และตลิ่งชัน รวมทั้งหมด 11 เที่ยวบิน ขณะที่ทั้ง 50 เขตระดม Big Cleaning บริเวณหน้าบ้านและสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เวลา 22.00 น. บริเวณถนนกาญจนาภิเษก ระหว่างถนนพระราม2 ถึงถนนกัลปพฤกษ์ ส่วนในวันนี้ 4 ก.พ. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะทาง
อ่านข่าว : หายใจได้คล่องคอ!!! กทม.-ปริมณฑล คุณภาพอากาศดีขึ้น คาดพรุ่งนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ล่าสุดทางด้านนายธีรยุทธ ภูมิศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี พร้อมด้วยนายพันธ์เลิศ ใบหยก ประธานกลุ่มใบหยก นำทีมงานดับเพลิงเขตราชเทวี เข้ามาทดสอบการฉีดพ่นน้ำจากบนระเบียง ชั้น 81 โรงแรมใบหยกสกาย ( ตึกใบหยก 2 ) เพื่อศึกษาผลที่จะได้รับจากการพ่นน้ำ ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 ในอากาศ
โดยนายธีรยุทธ เปิดเผยว่าอุปกรณ์ที่พ่นน้ำ คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการดับเพลิง มีแรงดันน้ำสูงที่สามารถปรับได้หลายระดับ โดยน้ำทั้งหมด จะใช้น้ำภายในอาคารตึกใบหยก 2 นอกจากจะนำน้ำมาใช้พ่นลดฝุ่นละออง แล้ว ยังเป็นการทดสอบเรื่องระบบน้ำภายในตึกใบหยกด้วย
ด้านนายพันธ์เลิศ กล่าวว่า สำหรับการฉีดน้ำมีอยู่ทั้งสิ้น 2 ส่วน คือ 1.ในบริเวณระเบียงชั้น 81 ที่ติดตั้งหัวฉีดดับเพลิงแบบมอนิเตอร์ และ 2.ในบริเวณชั้น 85 ที่ติดตั้งสเปรย์พ่นน้ำ ซึ่งการฉีดน้ำทั้งหมด จะดำเนินการในชั่วโมงเร่งด่วน โดยจะมีการประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองเป็นระยะว่าจะฉีดน้ำเป็นเวลานานเท่าใด พร้อมยืนยันการฉีดน้ำจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยด้านล่าง เนื่องจาก เมื่อน้ำลงไปด้านล่างจะกลายเป็นละอองเล็ก การดำเนินการฉีดน้ำจะได้ผลมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เนื่องจากไม่มีงบประมาณหลวงเข้ามาเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2562 นัดพิเศษ ระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกทม.และปริมณฑล โดยมีมติเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการระยะเร่งด่วนอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดที่สุด เพื่อลดผลกระทบและแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ควบคู่กับสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องฝุ่น PM2.5 ให้อยู่บนข้อเท็จจริงและไม่บิดเบือนความจริงในสื่อสังคมออนไลน์
ทั้งการบังคับใช้กฎหมายควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษให้ชัดเจน จากการตรวจสอบพบว่ากทม.และปริมณฑลฝุ่นละออง PM2.5 สาเหตุหลักมาจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์และน้ำมันดีเซลปล่อยควันดำออกมามากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งต้องเพิ่มความเข้มงวดการตั้งจุดตรวจรถยนต์วัดควันดำบริเวณจังหวัดรอยต่อบนถนนสายหลักและสายรองทุกเส้นทางที่มีรถบรรทุกและรถโดยสารมุ่งหน้าเข้ากทม. เพื่อควบคุมรถที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานจากต่างจังหวัดไม่ให้เข้าสู่ กทม.ต่อเนื่องทุกวัน โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกระทรวงคมนาคม ได้ปรับมาตรฐานตรวจจับควันดำใหม่เป็นมาตรฐานเดียวกันต้องไม่เกินร้อยละ 30 จากเดิมกำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 45 ตามที่กฎหมายกำหนด หากเกินจะถูกเปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท และพ่นห้ามใช้ทันที
ทั้งนี้ให้หน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นเมืองใหญ่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น โดยกทม.ต้องติดตั้งให้ครบทั้ง 50 เขตภายในปีนี้ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันดีเซลให้มีค่ากำมะถันต่ำกว่า 10 pm หรือยูโร 5 จากปัจจุบันประเทศไทยใช้น้ำที่มาตรฐานยูโร 3 และ 4 ที่มีค่ากำมะถัน 50 ppm ซึ่งจะนำร่องใช้ทั้งหมดก่อนใน กทม.และปริมณฑลโดยเริ่มทำทันที ด้วยการให้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลเก่าติดตั้งตัวกรองฝุ่นละอองเข้าสู่มาตรฐานใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำเสนอผลการประชุมให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและพิจารณาในการประชุม ครม. วันที่ 5 ก.พ.นี้
อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าต้องเฝ้าระวังฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น 2 ช่วงเวลา คือ วันที่ 7 ก.พ. และ ระหว่างวันที่ 13 –15 ก.พ. เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าสภาพอากาศจะปิดและลมสงบอีกครั้ง