- 28 ก.พ. 2562
สังคมเท่าเทียมจริงหรือ!?? "สุเพ็ญศรี" ยัน ปัจจุบันยังมีเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ชี้!! ร้องเรียนได้ หากพบสถานประกอบการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฯ(คลิป)
เมื่อวันที่ 27 ก.พ.62 ณ ห้องบงกชรัช บี โรงแรงรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ อินเตอร์เนชั่นแนลทรานส์ฟัน และภาคีเครือฯ ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “2 ปีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ : สังคมเท่าเทียมแค่ไหน?” เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจผลการดำเนินงานของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือ วลพ. และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดำเนินงานของ วลพ.เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งสร้างภาคีเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาควิชาการ ในการดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558
โดยภายในงานมีหัวข้อน่าสนใจที่มีสารประโยชน์ประโยชน์ เช่น การเสวนา เรื่อง “เสียงจากผู้ร้อง” โดยผู้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ คือ คุณกาญจนา สุทธิกุล คุณระพีพัฒน์ นาแสวง และ พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว วรรณฉวี ซึ่งมาบอกเล่าประสบการณ์จาการใช้กลไกลทางกฎหมายดังกล่าว
นอกจากประสบการณ์ผู้ที่เคยใช้กลไกลกฎหมายดังกล่าวแล้ว คุณนิชนัจทน์ สุดลาภา ซึ่งเป็นตัวแทนคนข้ามเพศได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องคำนำหน้านาม ที่เป็นอุปสรรค และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
ขณะที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตราภรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าวว่า ตนเองเข้ามาเป็นอาสาในฐานะที่เป็นนักวิชาการช่วยเหลือทางด้านปกป้องความหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ยินดีได้มีโอกาสมาดูผลงานของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือ วลพ. เป็นตัวอย่างและบทเรียนสำหรับอนาคต
ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต กล่าวอีกว่า กฎหมายไม่ใช่เป็นตัวแปรร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องมองแบบสหสาขา และมีตัวเชื่อม คนที่ถูกเลือกปฏิบัติอาจเป็นคนพิการ สตรี ผู้ลี้ภัย หรือ ผู้สูงอายุ ดังนั้น มีหลายมิติของการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้น
ด้าน คุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง กรรมการวินิฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กล่าวถึงการเลือกปฏิบัติด้านการจ้างงานในสังคมปัจจุบัน มองเรื่องนี้ ว่า ขณะนี้เรื่องการจ้างงานที่มีการเลือกปฏิบัติ ด้วยความเป็นเพศหญิงเพศชาย หรือกีดกันบุคคลที่แสดงออกต่างจากเพศกำเนิด มีทั้งหน่วยงานเอกชน รัฐบาล และในสถานศึกษาก็มี หรือจะเห็นในช่วงใกล้ๆ เดือนพฤษภาคม จะเห็นการประกาศรับสมัครงานนั้น จะระบุเพศ ซึ่งตั้งแต่กฎหมาย พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ใช้บังคับมา ก็ยังมีการระบุกันอยู่ในใบสมัครงาน
จากบรรยากาศภายในงานและการแลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมงานกว่า 80 คน ได้สะท้อนความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกัน แม้จะมีกฎหมายห้ามหากเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแต่ต่างทางเพศ แต่การเลือกปฏิบัติก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ถูกเลือกปฏิบัติหลายคนยังไม่รู้จักกฎหมายนี้ ขณะที่บางคนแม้จะรู้จักแต่ก็ไม่สามารถใช้กลไกดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องเผชิญกับแรงเสียดทาน และความกดดันต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพวกเราทุกคน ที่ต้องร่วมกันสื่อสาร และลุกขึ้นมาส่งเสียง และไม่สยบยอมต่อความไม่เป็นธรรมทางเพศ
โปรดติดตามข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจจากยูทูปชาแนล ของสำนักข่าวทีนิวส์ www.tnews.co.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- https://www.tnews.co.th/contents/491237
- https://www.tnews.co.th/contents/488668
- https://www.tnews.co.th/contents/457286