- 27 มี.ค. 2562
สมุทรปราการซ้อมย่อยพิธีพลีกรรมตักน้ำเพื่อนำไปประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระราชอาณาจักร
เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 27 มีนาคม จังหวัดสมุทรปราการ นำโดย นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมในพิธีซ้อมย่อยพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดสมุทรปราการ บริเวณด้านหน้าองค์พระสมุทรเจดีย์ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดสมุทรปราการ
โดยพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัด จะมีขึ้นในวันที่ 6 เมษายน 2562 จากนั้นจะอัญเชิญไปยังอุโบสถวัดพิชัยสงคราม(หลังเก่า) ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ และจะประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกในวันที่ 8 เมษายน 2562 จากนั้นจะประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชน์น้ำอภิเษก ในวันที่ 9 เมษายน 2562 ณ อุโบสถวัดพิชัยสงคราม(หลังเก่า) และอัญเชิญคนโทน้ำอภิเษกของจังหวัดส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทยเก็บรักษาต่อไป
นายชัยพจน์ ยังได้กล่าวเชิญชวนชาวจังหวัดสมุทรปราการ และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน และวันที่ 8 - 9 เมษายน เป็นพิธีสมโภชน์
ตามโบราณราชประเพณีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องเตรียมทำน้ำอภิเษก โดยทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จัดที่ตั้งสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษก และน้ำสรงพระมุรธาภิเษก และเพื่อทำน้ำอภิเษกก่อนที่จะนำไปประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากข้อมูล “ประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์ เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
ตามตำราโบราณของพราหมณ์น้ำอภิเษกจะต้องเป็นน้ำจาก “ปัญจมหานที” คือ แม่น้ำใหญ่ทั้ง 5 สายในชมพูทวีป หรือในประเทศอินเดีย ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำมหิ แม่น้ำยมนา แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ในศาสนาพราหมณ์–ฮินดู เชื่อว่าแม่น้ำทั้ง 5 สายนี้ไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร จึงถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ นำมาใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ เช่น น้ำสรงพระมุรธาภิเษก น้ำอภิเษก และน้ำพระพุทธมนต์
ในรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระราชอาณาจักร จำนวน 107 แห่ง ตามโบราณราชประเพณี โดยทำพิธีพร้อมกันในวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2562 ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด 76 แห่งในวันที่ 8 เมษายน และเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในวันที่ 9 เมษายน จากนั้นทุกจังหวัดเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์มาตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อเสกน้ำอภิเษก รวมกับน้ำอภิเษกของกรุงเทพมหานคร จากหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ในหลวง ร.10 พระราชทานตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพร้อมความหมายแล้ว
พสกนิกรปลาบปลื้มเลขมหามงคล เผยตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกใหม่ ความหมายคชสีห์กายม่วง