- 20 เม.ย. 2562
จากกรณี นายแชด เอลวาร์ตอฟสกี ชาวต่างชาติ และนาเดีย หรือนางสุปราณี เทพเดช ภรรยาชาวไทยสร้างบ้านลอยน้ำกลางทะเลไทย โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพาเขากลับสหรัฐ และขอให้ภรรยาได้รับการลี้ภัยด้วย เนื่องจากถูกทางการไทยติดตามไล่ล่าตัว ทั้งที่ไม่มีความผิด ล่าสุด นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยืนยันการกระทำของสามีภรรยาคู่นี้มีความผิดตามกฎหมายไทยหลายฉบับ และยังถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
จากกรณี นายแชด เอลวาร์ตอฟสกี ชาวต่างชาติ และนาเดีย หรือนางสุปราณี เทพเดช ภรรยาชาวไทยสร้างบ้านลอยน้ำกลางทะเลไทย โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพาเขากลับสหรัฐ และขอให้ภรรยาได้รับการลี้ภัยด้วย เนื่องจากถูกทางการไทยติดตามไล่ล่าตัว ทั้งที่ไม่มีความผิด ล่าสุด นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยืนยันการกระทำของสามีภรรยาคู่นี้มีความผิดตามกฎหมายไทยหลายฉบับ และยังถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
จากเรื่องดังกล่าวทำให้กลายเป็นกระแสค่อนข้างแรง เนื่องจากนายแชดได้ร้องขอความช่วยเหลือกับสื่อต่างประเทศ โดยอ้างว่าตนและภรรยาถูกทางการไทยไล่ล่าตัว ในขณะที่กองทัพเรือได้ออกมายืนยันแล้วว่าไม่ได้มีการตามไล่ล่าอย่างที่นายแชดกล่าวอ้าง พร้อมทั้งยืนยันว่าทั้งคู่มีความผิดจริง และต้องนำตัวมาดำเนินคดีให้ได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ผบ.ทร.ย้ำผัวฝรั่งเมียไทย สร้างบ้านทะเลภูเก็ตละเมิดอธิปไตยจ่อรื้อถอน
คืบหน้าล่าสุดหลังจากที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 (ศรชล. เขต 3) ทีมเจ้าหน้าที่จากกองโรงงาน ฐานทัพเรือพังงา และชุดปฏิบัติการพิเศษ ทัพเรือภาคที่ 3 รวมทั้งเรือลากจากฐานทัพเรือพังงา และสื่อมวลชนจากสำนักข่าวต่างๆ พร้อมด้วยอุปกรณ์ในการบันทึกภาพ เดินทางโดยเรือตรวจการณ์ ต.991 ของกองทัพเรือ ไปยังบริเวณกลางทะเลซึ่งเป็นจุดติดตั้งบ้านลอยน้ำของกลุ่ม Seasteading ห่างจากเกาะภูเก็ตไปประมาณ 22 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณไปถึงประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
โดยชุดปฏิบัติการพิเศษ ทัพเรือภาคที่ 3 ได้ลงตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าบ้านลอยน้ำนั้นมีสภาพไม่แข็งแรงตัวบ้านตั้งบนแท่งเหล็กที่จมลงไปในน้ำประมาณ 50 เมตร มีขาเหล็ก 4 ขาค้ำตัวบ้านไว้ 2 ข้าง ยึดกับแท่งเหล็กอีก 2 ข้างค้ำยันไว้เฉยๆ และใช้ไม้เป็นฐานรองยึดเท่านั้น ตัวบ้านมีลักษณะเอียงข้างและเมื่อมีลมพัดแรงจะโยกไปมาตามแรงลม และเจ้าหน้าที่คาดว่าจะไม่สามารถรับแรงคลื่นขนาดใหญ่หรือพายุได้
สำหรับการเคลื่อนย้ายบ้านลอยน้ำกลับเข้าฝั่ง จะต้องใช้วิธีการแยกชิ้นส่วนระหว่างเสาเหล็กที่เป็นทุ่นกับตัวอาคารทรงแปดเหลี่ยมและตัวบ้านออกจากกัน แล้วถึงจะเคลื่อนย้ายวัตถุดังกล่าวกลับเข้าฝั่งได้ แต่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการแยกชิ้นส่วนมากพอสมควร คาดว่าในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ถึงจะสามารถเคลื่อนย้ายตัวบ้านเข้าฝั่งมาเก็บเป็นพยานวัตถุแห่งคดีอาญาได้ แต่พยานหลักฐานต้องสมบูรณ์แบบเหมือนเดิม เพราะต้องดำเนินคดีกับ 2 สามีภรรยาและบริษัท รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายทั้งหมด ตามมาตรา 119 ในข้อหาละเมิดอธิปไตยของไทย ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต
ด้าน พลเรือโท สิทธิพร มาศเกษม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ผู้บัญชาการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 ทาง ศรชล. เขต 3 ดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะในพื้นที่การตั้งบ้านลอยน้ำนั้นอยู่ในอาณาเขตต่อเนื่องภายใน 24 ไมล์ทะเลของรัฐบาลไทย ไม่ใช่น่านน้ำสากลตามที่ทางกลุ่มกล่าวอ้าง เพราะในฝั่งทะเลอันดามันนั้น ไม่มีพื้นที่น่านน้ำสากล เนื่องจากน่านน้ำอาณาเขตของเราจากฝั่งออกไป 12 ไมล์ทะเล จากนั้นเป็นพื้นที่อาณาเขตต่อเนื่องอีก 12 ไมล์ทะเล จากนั้นเป็นพื้นที่อาณาเขตเศรษฐกิจจำเพาะอีก 200 ไมล์ทะเล อาณาเขตทุกด้านชนกับประเทศเพื่อนบ้านหมด ทั้งฝั่งประเทศเมียนมา อินเดีย มาเลเซีย จึงไม่มีส่วนไหนของทะเลอันดามันเป็นพื้นที่น่านน้ำสากลที่จะให้ Seasteading ในนามของ Ocean Builders ตั้งถิ่นฐานรัฐอิสระปกครองตนเองได้เลย
อีกทั้งที่ตั้งปัจจุบันอยู่ในอาณาเขตรับผิดชอบของประเทศไทย เราจำเป็นต้องดำเนิคดีตามกฎหมายและเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงขอความกรุณาให้สื่อมวลชนช่วยนำเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป ซึ่งเราจำเป็นต้องดำเนินการทำการรื้อถอน เนื่องจากบุกรุกอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยชัดเจน แม้ทางบริษัท Ocean Builders จะออกแถลงการณ์ห้ามเราทำการรื้อถอน หากเราทำการรื้อถอนจะฟ้องศาลโลกนั้นเป็นสิทธิของบริษัท ส่วนสิทธิ์ของเราคือการรักษาอธิปไตยของประเทศไทยและหากไม่ดำเนินการตามกฎหมายจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศเรา
และทางทัพเรือภาคที่ 3 เข้าตรวจสอบและแจ้งความดำเนินคดีต่อชาวต่างชาติและภรรยาคนไทย ที่ทางบริษัทผู้ผลิตบ้านดังกล่าวระบุว่า เป็นอาสาสมัครที่มาทดลองใช้ชีวิตในบ้านลอยน้ำ ในข้อหาละเมิดอธิปไตยของไทย ซึ่งมีโทษสูงสุดประหารชีวิต รวมไปถึงมีการเพิกถอนวีซ่า และเข้าตรวจสอบอู่ต่อเรือที่ผลิตบ้านลอยน้ำ ทำให้บริษัทผู้ผลิตบ้านลอยน้ำต้องประกาศระงับโครงการที่จะเปิดขายตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.ออกไปจนกว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม บ้านลอยน้ำหลังนี้ ได้มีการก่อสร้างที่อู่ต่อเรือ ที่บ้านคอเอน หมู่ที่ 7 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นของบริษัท โอเชียนบิวเดอร์ส (Ocean Builders) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีแนวคิดในการสร้างบ้านที่อาศัยอยู่ในทะเล ที่จะก่อตั้งเป็นรัฐอิสระ ปกครองตนเอง เป็นบ้านต้นแบบ หรือบ้านตัวอย่างหลังแรกที่ประสบความสำเร็จในการนำมาติดตั้งในบริเวณกลางทะเลห่างจากเกาะราชาใหญ่ ประมาณ 12 ไมล์ทะเล และได้มีผู้ที่มีแนวคิดเหมือนกันได้มาทดลองอาศัยแล้ว จากเป้าหมายที่จะสร้างทั้งหมด 20 หลัง และมทีผู้สนใจแล้วจำนวน 14 ราย
ขณะที่ในเพจเฟซบุ๊ก กองทัพเรือ Royal Thai Navy ได้รายงานปฏิบัติการว่า "สื่อมวลชนที่ร่วมลงเรือ ต.991 เพื่อถ่ายทำบ้านลอยน้ำของกลุ่ม Seasteading ซึ่งพบว่าบ้านลอยน้ำดังกล่าว ยังคงอยู่ในตำบลที่เดิม"
กระทั่งในเวลาต่อมาทางเพจก็ได้อัพเดตความเคลื่อนไหวเป็นระยะว่า "เจ้าหน้าที่จากกองโรงงานฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 พร้อมเจ้าหน้าที่อื่น ๆ เดินทางถึงบ้านลอยน้ำ พร้อมเข้าสำรวจสิ่งปลูกสร้างเพื่อเตรียมการรื้อถอนตามขั้นตอนต่อไป โดยไม่พบมีผู้อาศัยในสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว"
จนในที่สุดก็ได้เข้าไปถึงในตัวบ้านแล้วทางเพจจึงได้อัพความคืบหน้าอีกทีว่า "ชั้น 2 ของบ้านลอยน้ำ รูปทรง 8 เหลี่ยม สภาพปัจจุบัน ไม่มีผู้อยู่อาศัยบนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการสำรวจโครงสร้างอย่างละเอียดเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป"
ขอบคุณเฟซบุ๊ก : กองทัพเรือ Royal Thai Navy