- 14 พ.ค. 2562
พนักงานอัยการคดีพิเศษ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชลชาสน์ ไชยมณี จำเลยที่ 1 กับพวก รวม 54 คน เป็นจำเลย สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 6, 9, 60 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91
ดูท่าว่า พล.ท.มนัส อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก จะได้ชดใช้กรรมในเรือนจำยาวๆ ซะแล้ว เมื่อที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีร่วมกันฟอกเงิน ค้ามนุษย์โรฮินจา หมายเลขดำ ฟย.16/2559 ที่ พนักงานอัยการคดีพิเศษ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชลชาสน์ ไชยมณี จำเลยที่ 1 กับพวก รวม 54 คน เป็นจำเลย สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 6, 9, 60 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91
โดยคดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างปี 2554 -2558 พวกจำเลยได้สมคบและตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินจากการค้ามนุษย์โรฮินจา โดยร่วมกันกระทำความผิดเปิดบัญชีธนาคารรับโอนเงิน ฝากเงิน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน และการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรือ อำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งแหล่งที่ตั้งการจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นการฟอกเงิน
รวมยอดเงินหมุนเวียนในการกระทำความผิด 443,389,468 บาท แล้วนำเงินไปซื้อที่ดิน 27 แปลง ใน จ.สตูล รวม 7,709,308 บาท, ก่อสร้างโรงแรมมายด์เซเว่น ราคา 27 ล้านบาท, ซื้อรถยนต์ 4 คัน ราคา 14.1 ล้านบาท เรือเร็ว 1 ลำ ราคา 4.5 ล้านบาท และเรืออีก 1 ลำ ราคา 1.6 ล้านบาท เป็นต้น เหตุเกิดที่ จ.ระนอง จ.สงขลา จ.สตูล จ.กระบี่ เกี่ยวพันกัน พวกจำเลยให้การปฏิเสธ
สำหรับจำเลยคนสำคัญในคดีร่วมกันฟอกเงินนี้ มีนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล จำเลยที่ 14 ตัวการใหญ่ค้ามนุษย์ใน จ.สตูล, นายบรรณจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีปาดังเบซาร์ ตัวการเครือข่ายค้ามนุษย์ใน จ.สงขลา จำเลยที่ 45, พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 46, ร.ต.ต.นราทอน สัมพันธ์ อดีตรอง สว.ป.กก.สส.ภ.จว.ระนอง จำเลยที่ 47, พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง สว.ธร.สภ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี จำเลยที่ 48 รวมจำเลย 54 คน
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างแล้วเห็นว่า พวกจำเลยร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาให้จำคุกนายบรรณจง, พล.ท.มนัส, ร.ต.ต.นราทอน, พ.ต.ท.ชาญ จำเลยที่ 45-48 ตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5(1)(2), 6(1), 9 วรรค 1 วรรคสอง, 10 วรรค 1, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ฐานสมคบตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
และเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ ร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงิน เพราะเหตุที่มีการสมคบกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ ร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และเหตุที่มีการสมคบกัน เนื่องจากจำเลยที่ 45-48 เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการทหาร และตำรวจ จึงต้องระวางโทษเป็นสองเท่า
จึงให้ลงโทษจำคุกนายบรรณจง จำเลยที่ 45 เป็นเวลา 20 ปี, จำคุก พล.ท.มนัส จำเลยที่ 46 รวม 2 ข้อหา 40 ปี แต่ให้จำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายมาตรา 90(2), จำคุก ร.ต.ต.นราทอน จำเลยที่ 47 รวม 12 ปี, จำคุก พ.ต.ท.ชาญ จำเลยที่ 48 รวม 10 ปี ส่วนนายปริญญา หรือโกโต้ง จำเลยที่ 14 จำคุกรวม 10 ปี
และให้จำคุกจำเลยที่ 1, 5, 11, 12, 13, 16, 17, 19, 20, 22, 27 ฐานสมคบกันฟอกเงิน คนละ 10 ปี, จำคุกจำเลยที่ 8,54 คนละ 8 ปี, จำคุกจำเลยที่ 35 มีกำหนด 6 ปี, จำคุกจำเลยที่ 53 ไว้ 5 ปี, จำคุกจำเลยที่ 15, 26, 42 คนละ 4 ปี, จำคุกจำเลยที่ 2, 3 คนละ 3 ปี, จำคุกจำเลยที่ 51 ไว้ 2 ปี, จำคุกจำเลยที่ 21, 37, 52 คนละ 1 ปี, จำคุกจำเลยที่ 30 ไว้ 16 ปี
สำหรับจำเลยที่ 4, 6, 7, 10, 24, 31, 32, 34, 36, 38, 40, 41, 43, 50 มีความผิดฐานสนับสนุนกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 10, 31, 36, 43 คนละ 10 ปี, จำคุกจำเลยที 7 ไว้ 8 ปี, จำคุกจำเลยที่ 4 ไว้ 7 ปี, จำคุกจำเลยที่ 40 ไว้ 5 ปี, จำคุกจำเลยที่ 24, 41 คนละ 3 ปี, จำคุกจำเลยที 6, 34 คนละ 2 ปี, จำคุกจำเลยที่ 38 ไว้ 1 ปี, จำเลยที่ 32 ไว้ 2 ปี และจำคุกจำเลยที่ 50 ไว้ 4 ปี
จำเลยที่ยกฟ้อง ได้แก่ นายณัฐวุฒิ ระวังภัย จำเลยที่ 8, น.ส.ศิริพร อุดมฤกษ์ จำเลยที่ 9, นายวิทยา จีระธัญญาสกุล จำเลยที่ 18, นายหมุดสอและ กำพวน จำเลยที่ 23, นายอาแซ เจ๊บากา จำเลยที่ 25, นายจารึก สุวรรณรัตน์ จำเลยที่ 28, นางศรัญญา เตะมาหมัด จำเลยที่ 29, น.ส.ฉันทนา วันทอง จำเลยที่ 33, นายประสิทธิ์ เหล็มแหล๊ะ จำเลยที่ 44 และ ร.อ.วิสูตร์ บุนนาค จำเลยที่ 49 เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2560 ศาลอาญาได้มีพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮินจา หมายเลขดำ คม.19, 27, 28, 29, 32, 35, 36, 40, 41, 47, 63/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ คม.33, 34, 35, 36, 37, 38, 39, 40, 41, 42, 43/2560 รวม 11 สำนวน ที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องยื่นฟ้องจำเลยจำนวน 103 คนที่ประกอบด้วยทั้ง ทหาร ตำรวจและพลเรือน โดยจำเลยคนสำคัญ คือ พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก
นอกจากนี้ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยที่สำคัญ เช่น นายบรรณจง หรือโกจง ปองพล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จ.สงขลา จำเลยที่ 1, นายอ่าสัน หรือหมู่สัน หรือบังสัน อินทธนู อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 2 และนายประสิทธิ์ หรือเดช หรือบังเบส หรือบังเค เหล็มเหล๊ะ อดีตรองนายกเทศมนตรีตำบลปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 6 ที่เป็นอดีตผู้บริหารท้องถิ่นและอดีตสมาชิกท้องถิ่น คนละ 78 ปี ฐานค้ามนุษย์บุคคลที่อายุไม่เกิน 15 ปีและอายุเกิน 15 ปีกับอายุเกิน 18 ปี และมีส่วนร่วมอาชญากรรมข้ามชาติฯ จำคุกนายปัจจุบัน หรือโกโต้ง อังโชติพันธุ์ อดีตนายก อบจ.สตูล จำเลยที่ 29 มีกำหนด 75 ปี
ส่วน พล.ท.มนัส อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก จำเลยที่ 54, พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง จำเลยที่ 31, ร.ต.ต.นราทอน สัมพันธ์ จำเลยที่ 33 และนายอาบู หรือ ส.จ.บู ฮะอุรา อดีต ส.อบจ. อ.ควนโดน จ.สตูล จำเลยที่ 14 จำคุกไว้คนละ 27 ปี รวมทั้งให้จำเลยรวม 62 ราย ที่ศาลพิพากษาลงโทษ ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายต่อเสรีภาพกับทุกข์ต่อจิตใจและร่างกาย และการขาดรายได้ทำมากินกับผู้เสียหายทั้งที่เป็นเด็กชาย 7 ราย กับและผู้เสียหายที่อายุกว่า 15 ถึง 18 ปี จำนวน 58 รายด้วย ตั้งแต่รายละ 50,000 - 159,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,400,250 บาท