- 26 พ.ค. 2562
ครูโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งใน อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น โพสต์ข้อความคัดค้านนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 1.5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ชี้ทำให้นักเรียนเดินทางลำบาก ทุกคนต้องอยู่กับตายาย ถามผิดด้วยเหรอที่อยู่บ้านนอก ทำไมจ้องแต่จะยุบโรงเรียน แทนที่จะส่งครูมาช่วย
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปรวบรวมระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อที่จะให้ศึกษาธิการจังหวัดกระตุ้นให้ยุบเลิก หรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดของตนเอง 15,000 แห่งทั่วประเทศ และให้โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ที่มีโรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาอยู่บริเวณใกล้เคียง หยุดรับนักเรียนชั้น ม.1 อ้างว่าเด็กน้อยมาก ไม่มีกิจกรรมกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ส่งผลให้เด็กเสียโอกาสในด้านคุณภาพ
ล่าสุด มีความคิดเห็นในโลกโซเชียล มาจากนายบุญช่วย ฤทธิเทพ ครูโรงเรียนบ้านกุดแคนประชาสรรค์ ต.ทุ่งชมพู อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "คณิตศาสตร์ By พี่ช่วย" โดยสรุปว่า หากมีการยุบโรงเรียน จะทำให้นักเรียนทั้ง 46 คน ต้องเดินทางไปเรียนหนังสือไกลอีก 5 กิโลเมตร ทั้งที่แต่ละคนอยู่กับผู้สูงอายุ มีฐานะยากจน โรงเรียนแห่งนี้สอนอยู่ 3 คน คนแรกสอนอยู่ที่ชั้นอนุบาล คนที่สองสอนอยู่ชั้น ป.1-ป.3 และตนสอนชั้น ป.4-ป.6 ก็สามารถบริหารงานได้ อีกทั้งการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ก็สูงกว่าระดับประเทศ
"ผิดด้วยเหรอที่อยู่บ้านนอก ทำไมจ้องแต่จะยุบโรงเรียน แทนที่จะส่งครูมาช่วยกันพัฒนากระจายการศึกษาให้ทั่วถึง เด็กบ้านนอกไม่ใช่คนเหรอถึงได้เขี่ยเล่นตามใจชอบ"
นายบุญช่วย อธิบายว่า ที่ยุบโรงเรียนขนาดเล็กโดยอ้างว่าสิ้นเปลืองงบประมาณนั้น ในความเป็นจริงแต่ละปีไม่เห็นส่งงบประมาณมาให้พัฒนาถึงกับต้องเปลือง เพราะคอมพิวเตอร์ สนามกีฬา ป้ายโรงเรียน รั้วโรงเรียน บ้านพักครู ฯลฯ ก็มาจากการทอดผ้าป่าการศึกษาจากชาวบ้านล้วนๆ
ทั้งนี้ โรงเรียนบ้านกุดแคนประชาสรรค์ อยู่ติดเขื่อนอุบลรัตน์ ชาวบ้านมีอาชีพหาปลา เด็กกำพร้าพ่อแม่เนื่องจากหย่าร้าง อยู่กับตายาย 90% ห่างจากตำบลทุ่งชมพู 12 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอภูเวียง 24 กิโลเมตร และห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ขอนแก่น เขต 5 ราว 82 กิโลเมตร
"เศร้าแทนตายายแก่ๆ กับโรงเรียนที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างมา และน้อยใจเหมือนเขามองเด็กเหล่านี้ไร้ค่ารวมถึงมองครูบ้านนอกอย่างพวกเราด้วย"
นายบุญช่วย เล่าถึงชีวิตในโรงเรียนว่า สำหรับตนเองพ่อแม่หย่าร้างและยากจนมาก เรียนจบจากศึกษาสงเคราะห์ ราชประชานุเคราะห์ จึงเข้าใจนักเรียนที่กำพร้าพ่อแม่อยู่กับตายาย สอนทุกวิชา อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เช้าเรียนวิชาการ บ่ายเรียนดนตรีพื้นบ้านดีดพิณเป่าโหวด เย็นเล่นตะกร้อกับครู เด็กอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นมีความขยันช่วยงานตายายและมีวินัย ที่สำคัญหาปลา หุงข้าว นึ่งข้าว ซักผ้า ล้างจาน ทำกับข้าวเป็น เอาตัวรอดได้
สังคมต้องการอะไรอีกในเด็กประถม โรงเรียนประจำหมู่บ้านเล็กๆ ความถนัดก็ไปต่อยอดเอาในระดับมัธยมศึกษาที่มีครูครบทุกระดับชั้น โอเน็ตอย่าเอามาวัดกับนักเรียนเหล่านี้เลย แต่ทุกวันนี้วัดกันว่าโอเน็ตต่ำ แทบไม่มีจุดยืนในสังคม เทงานเอกสาร งานในระบบมาให้อีกนับไม่ถ้วน ทำให้ความสุขและเวลาของการสอนนั้นหายไป เท่านั้นยังไม่พอ จะมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ตรงนี้บั่นทอนกำลังใจมาก ถามว่าเราทำอะไรผิด
อย่างไรก็ตาม นายบุญช่วย กล่าวว่า ทางโรงเรียนยังไม่มีคำสั่งยุบ แต่อีกไม่นานนี้ก็ไม่แน่ เห็นข่าวจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง พร้อมบอกจะแก้กฎหมายที่ขัดขวางการยุบโรงเรียน เหมือนเขาจะยุบให้ได้ ถ้าจะยุบก็ควรลงพื้นที่ไปตรวจคุณภาพ สอบถามความความพึงพอใจก่อนว่าสมควรยุบหรือไม่ เพราะบางแห่งเรียนกับครูตู้นั่งเฝ้าทีวี 2-3 คน แต่พวกเราอยู่กับเด็กทุกคนผลสัมฤทธิ์ก็ไม่น้อยไปกว่าเด็กในเมือง
"เอะอะยุบ แทนที่จะส่งครูไปช่วยกระจายการศึกษาให้ทั่วถึง ปู่ย่าตายาย ไทบ้าน ร่วมกันหาผ้าป่ามาสร้างสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ลูกหลานเขาได้อยู่ได้ใช้ในบ้านตัวเอง ต่ำว่า 50 ยุบ ภาพคุณตาคุณยายแก่ๆ ลอยมาในหัวผม เลยน้อยใจที่เขาไม่มองเห็น ไม่ให้ความสำคัญในจุดๆ นี้ เลยสื่อออกไปให้เห็นภาพ อย่างน้อยผมก็ได้แสดงจุดยืนของผม และสิ่งที่เป็นอยู่จริงอีกขั้วหนึ่งของการศึกษาไทยที่หลายๆ คนไม่เคยเข้าใจ และไม่เคยรู้ว่ายังมีกลุ่มนี้ที่รอให้การศึกษามาถึงชมชุนเขาอยู่" นายบุญช่วย กล่าว
ขอบคุณ คณิตศาสตร์ By พี่ช่วย