- 06 มิ.ย. 2562
"ฉาย บุนนาค" เผยยุทธศาสตร์ "เนชั่น กรุ๊ป" หลังคืนในอนุญาตช่องสปริง 26 ย้ำเงิน 872 ล้านบาทที่ได้มาจะนำไปใช้หนี้ที่มีมาตั้งแต่ผู้บริหารชุดเก่า และพัฒนาสตูดิโอให้ทันสมัย
ฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงเรื่องการคืนใบอนุญาตช่องสปริง 26 โดยอธิบายว่าเป็นเรื่องที่ทางเนชั่นคุยกันมาตั้งนานแล้วว่าจะคืนช่อง เพราะปัญหาเรื่องเงินจากโฆษณาที่ไม่เป็นไปตามเป้าที่ประเมินไว้ ประจวบเหมาะกับทางที่ กสทช. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ ทำให้มีการตัดสินใจคืน และได้เงินกลับมา 872 ล้านบาท ขณะที่ภาระหนี้สิ้นที่เกิดขึ้นนี้มีมาตั้งแต่ผู้บริหารชุดเก่าประมาณ 1,700 ล้านบาท การที่ได้เงินก่อนนี้มาจ่ายหนี้ทำให้ไม่ต้องแบกภาระหนัก และยืนยันว่า ผลประกอบการของเนชั่น กรุ๊ปตอนนี้ไม่ได้ขาดทุน แต่ขาดทุนจากภาระดอกเบี้ย ปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาเติมให้กับช่องเนชั่น 22 ซึ่งเหมาะกับทาร์เก็ตกรุ๊ปของเรามากกว่า
สำหรับเงินที่ได้มาจากการคืนช่องสปริง 26 แน่นอนว่าต้องเอาไปใช้หนี้เป็นหลัก รวมทั้งจะใช้ในการทำสตูดิโอใหม่ประมาณ 50 ล้านบาทด้วย เนื่องจาก 19 ปีมาแล้วที่เนชั่นไม่ได้พัฒนาสตูดิโอใหม่ ตั้งแต่ก่อนเป็นทีวีดาวเทียม จนเป็นทีวีดิจิทัล ก็ยังใช้สตูดิโอเดิม แต่ตอนนี้เราต้องแข่งขันในเรื่องของความสวยงาม โดยผู้บริหารชุดปัจจุบันของเนชั่น กรุ๊ป ได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ดังนี้
1. ช่องที่คืนส่วนใหญ่เป็นช่องข่าว ดังนั้นต้องฉวยจังหวะนี้พัฒนาคอนเทนต์ต่อเนื่อง เพื่อดึงผู้คนจากช่องข่าวที่ปิดไปมาอยู่ที่ช่องเนชั่น 22 ให้มากขึ้น
2. วางแผนปรับราคาค่าโฆษณาใหม่ เพราะเชื่อว่าคนดูเราต้องมากขึ้น
3. ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เนชั่น กรุ๊ป ครบ 48 ปี จะมีการปรับผังรายการครั้งใหญ่
4. ปรับโครงสร้างในการทำงานใหม่ จากเดิมเนชั่นมีสำนักงานข่าว 2 กอง คือ เนชั่น 22 คน 400 กว่าคน กับสปริง 26 จำนวน 200 กว่าคน ตอนนี้ต้องรวมเหลือช่องเดียว ในส่วนสำนักข่าวทีมงานในเรื่องกราฟิกตัดต่อ คงต้องมาทำงานร่วมกัน และขยายทีมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง แต่ในส่วนของพนักงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกอากาศ อาจไม่จำเป็นต้องใช้คนเท่าเดิม
5. ในเรื่องโครงสร้างรายได้ ต้องการรายได้จากการโฆษณาในช่องทีวีเพียง 50% อีกส่วนที่จะมาคือรายได้จากทางดิจิทัล รายได้จากการทำโปรดักต์ของตัวเองบนช่อง รายได้จากการให้เช่าเส้นเวลากับผู้ผลิตคอนเทนต์ที่เป็นพาร์ตเนอร์ รวมทั้งรายได้ทางดิจิทัลและอีเวนต์
6. นโยบายใหม่จะไม่ขายเวลาให้กับทางรายการโฮมช้อปปิ้งแต่จะร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ด้วย เพื่อแบ่งกำไรกันแทน โดยต้องผ่านคอลเซ็นเตอร์ที่เราเชื่อถือ และที่สำคัญจะให้เวลาโฮมช้อปปิ้งแค่ 10 นาทีมาคั่นรายการ โดยแนวโน้มจะให้เวลาลดลงเรื่อยๆ
7.จะให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาบิ๊กดาต้ามากขึ้น เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคบนออนไลน์ได้ชัดเจนขึ้น ทำให้การนำเสนอสินค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แทนการหว่านโฆษณาแบบเดิมๆ
ส่วนเรื่องสื่อสิ่งพิมพ์ที่เหลืออยู่ของค่ายเนชั่น ยืนยันว่า ต้องการย้ายสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมดไปอยู่บนออนไลน์อย่างเดียว แล้วเอาคอนเทนต์ไปหารายได้เพิ่มจากด้านอื่นๆ เช่นเดียวกับทางทีวีต้องทำ เช่น รายได้จากอีเวนต์ ซึ่ง "คมชัดลึก" และ "กรุงเทพธุรกิจ" ทำเรื่องนี้ได้แข็งแรงอยู่แล้ว
บทสัมภาษณ์จาก : marketeeronline
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เดินเครื่องรุกเต็มสูบ!! บอร์ด NMG อนุมัติแต่งตั้ง "ฉาย บุนนาค" นำทัพเนชั่นกรุ๊ป - Tnews
- 'ฉาย บุนนาค' คุมทัพเนชั่นกรุ๊ป ประกาศพลิกฟื้นองค์กร - Bangkok Biznews
- “ฉาย บุนนาค” เปิดตัวคุมทัพเนชั่นฝ่าพายุธุรกิจสื่อ ลั่นไม่รับเงืนเดือนจนกว่าองค์กรจะมีกำไร - Springnews
- "ฉาย บุนนาค" คุมทัพเนชั่นกรุ๊ป ประกาศพลิกฟื้นองค์กร - NationTV
- ตั้ง 'ฉาย บุนนาค' นั่งประธานกรรมการบริหาร เนชั่นกรุ๊ป - คมชัดลึก