- 18 มิ.ย. 2562
พบอดีตนักร้องชื่อดัง "ปุ๊กกี้" ปริศนา พรายแสง ภายในบ้าน
จากกรณีเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ร่วมกับตำรวจปราบปรามยาเสพติด เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านย่านรามอินทรา 65
หลังจากสืบทราบว่ามีการนัดส่งยาเคตามีนจำนวน 5.2 กก. โดยพบอดีตนักร้องชื่อดัง "ปุ๊กกี้" ปริศนา พรายแสง ภายในบ้านพร้อมของกลางยาเคตามีนดังกล่าว และอุปกรณ์ นอกจากนี้ยังสามารถจับกุมแฟนหนุ่มของปุ๊กกี้ และชายชาวไต้หวัน ได้ 1 ราย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รวบ ปุ๊กกี้ ชาลาล่า
ต่อมาทางด้านพ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากป.ป.ส.ได้รวบรวมข้อมูล มุ่งเป้าหมายเครือข่ายนักค้ารายสำคัญ
โดยเฉพาะชาวไต้หวัน ที่มีพฤติการณ์ลำเลียงยาเสพติด ยาไอซ์ส่งไปยังไต้หวัน เจ้าหน้าที่ได้รับการข่าวต่อเนื่องหลายปี และเมื่อต้นเดือนทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ จึงได้มีการส่งทีมสะกดรอยตามจนพบเป้าหมายชาวไต้หวันว่ามีการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย จนทราบว่าเครือข่ายเข้าพักในที่พักกทม. และนัดพบเครือข่ายคนไทย เจ้าหน้าที่จึงจัดชุดเข้าดำเนินการเป้าหมายที่เชื่อว่ากลุ่มไต้หวันมารับของกลาง ที่ รร. Gold Airport suite แขวงลาดกระบัง กระทั่งพบว่าเครือข่ายชาวไต้หวันรายนี้ได้มีการรับมอบยาเสพติดของกลางดังกล่าวจริง
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวอีกว่า ในส่วนของ ปุ๊กกี้ ปริศนา รับสารภาพว่า ตนเป็นคนปล่อยยาเสพติด และการกระทำดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ยอมรับว่าทำอย่างนี้มานานหลายปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ช็อคหนัก!!เปิดคำสารภาพปุ๊กกี้ ร่วมสามีทำธุรกิจค้ายาแก๊งไต้หวัน
และสำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาเสพ มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีครอบครอง ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี -5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000 บาท-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี
สำหรับผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี-20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาท-2,000,000 บาท
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2561 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เห็นชอบให้เพิ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 ได้แก่ คีตามีน เป็นยาเสพติดในบัญชีแนบท้ายประกาศ คสช. ดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยว่ากระทําความผิดฐานเสพคีตามีน หรือเสพ และมีคีตามีนไว้ในครอบครอง ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม สามารถนำมาตรการทางเลือกในการบำบัดฟื้นฟู มาใช้แทนการลงโทษหรือการถูกดำเนินคดีได้
โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 25 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป
สำหรับยาเค หรือ คีตามีน (Ketamine) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ใช้เป็นยาสลบก่อนทำการผ่าตัด สามารถระงับปวด ช่วยขยายหลอดลม ต่อต้านอาการซึมเศร้าได้ ซึ่งจะออกฤทธิ์ประมาณ 5-10 นาที เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ยาเคจึงถูกนำมาใช้ในกรณีของการผ่าตัด ที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ เป็นยาที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในทางการแพทย์มาเป็นเวลานาน แต่ต่อมากลับถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดมากขึ้น โดยใช้ร่วมกับยาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น เช่น ยาอี และ โคเคน