- 03 มี.ค. 2563
เป็นอีกหนึ่งธุรกิจใหญ่ที่ประสบผลขาดทุนต่อเนื่อง สำหรับ บมจ.การบินไทย ยิ่งโดยเฉพาะกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ กอรปกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก และส่งผลกระทบในวงกว้างกับทุกภาคส่วน
เป็นอีกหนึ่งธุรกิจใหญ่ที่ประสบผลขาดทุนต่อเนื่อง สำหรับ บมจ.การบินไทย ยิ่งโดยเฉพาะกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ กอรปกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก และส่งผลกระทบในวงกว้างกับทุกภาคส่วน
ล่าสุด นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงว่า ผลประกอบการในปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 2.7% ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.1% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.6% และจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.51 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8%
โดยผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในปี 2562 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาท หรือ 7.7% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลประกอบการยังเป็นลบ แต่ในปี 2562 นี้บริษัทฯ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาท หรือลดลง 5.8% ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท คิดเป็น ตัวเลขขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 448 ล้านบาท หรือราว 3.9% ซึ่งเป็นผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 12,042 ล้านบาท ส่วนผลกระทบหลักๆ เกิดจากปัจจัยลบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับการแข่งขันด้านราคาที่ยังคงรุนแรง
"ปี 2562 ถือเป็นปีที่ยากลำบากของธุรกิจการบินที่มีการแข่งขันรุนแรงมาก โดยการบินไทยที่ทำการบินทั้งในเอเชียและยุโรป ได้รับผลกระทบมากกว่าสายการบินอื่น ประกอบกับปัญหาเงินบาทที่แข็งค่า สงครามการค้าจีนและสหรัฐ อีกทั้งยังเจอปัญหาความขัดแย้งในประเทศอินเดียและปากีสถาน ที่ทำให้การบินไทยต้องบินอ้อมน่านฟ้าและมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
อีกทั้งการบินไทยยังหารายได้จากบริการ Preferred Seats ที่เริ่มดำเนินการในเดือน ก.ค.2562 จากรายได้หลักแสน และสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบาท โดยการบินไทยคาดว่าหากขยายการดำเนินงานเต็มรูปแบบ จะสามารถสร้างรายได้ต่อเดือนเพิ่มเป้น 60–70 ล้านบาท
ส่วนสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ไม่สามารถประเมินได้ว่าโรคดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และจะเป็นผลกระทบต่อรายได้อย่างไร แต่ในภาพรวมของปริมาณผู้โดยสารพบว่าในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีปริมาณลดลงราว 30% เช่นเดียวกับเดือน มี.ค.นี้ ประเมินว่าจะลดลงอยู่ที่ 30% โดยตลาดเอเชีย ปรับลดลง 30-40% ขณะที่ยุโรป ลดลงราว 5% ซึ่งขณะนี้ยังคงถือว่าไม่มากนัก แต่ยอมรับว่ามีผลกระทบหนักในเส้นทางอิตาลี"
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย เน้นย้ำว่า สภาพวิกฤตที่ต้องรับมือในปี 2562 ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ ต้องเผชิญผลกระทบจากปัจจัยลบหลายประการ ทั้งจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ภัยธรรมชาติ การแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง
รวมถึงบริษัทฯ ต้องหยุดบินในบางเส้นทางจากเหตุการณ์ปิดน่านฟ้าของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน การประท้วงในฮ่องกง และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ในช่วงปลายปี 2562 ประกอบกับมีการรับรู้ค่าชดเชยตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 300 วันเป็น 400 วัน รวมทั้งปัจจัยภายในคือปัญหาความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต ทำให้ผลประกอบการปี 2562 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 2.7% ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.9% แม้ว่าอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.1% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.6% และจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.51 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8%
“นาทีนี้คงไม่ใช่เวลาพูดเรื่องเพิ่มทุน เพราะคงไม่มีใครมาเพิ่มทุนในช่วงวิกฤต แต่เรามีแผนรองรับไว้แล้วกับทุกสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยจัดทำมาตรการรองรับไว้ 5 ระดับ คลอบคลุมการปฏิบัติการ รายได้ ค่าใช้จ่าย สภาพคล่อง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้น 4 ใกล้ 3 โดยขั้น 4 เราได้ทำการปรับลดค่าใช้จ่ายไปแล้วในบางส่วน”นายสุเมธ กล่าว
ส่วนการประเมินผลกระทบและการดำเนินงานในปี 2563 การบินไทยยังเชื่อว่าหากไม่มีโรคโควิด-19 รายได้ของบริษัทคงจะดีขึ้นกว่านี้ แต่สถานการณ์เช่นนี้ ต้องยอมรับว่าอาจต้องกลับมาประเมินว่าปีนี้ใครจะรอด และเมื่อรอดแล้วจะกลับมาอย่างไรมากกว่า ในส่วนของการบินไทยประเมินว่าสถานการณ์โรคโควิด -19 จะคลี่คลายในช่วงไตรมาส 3 และเข้าไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว
ขณะที่แผนจัดหาเครื่องบินใหม่ จำนวน 38 ลำ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการ (บอร์ด) ได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารนำกลับมาทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะนี้ได้ปรับปรุงเสร็จแล้ว และเตรียมจะเสนอบอร์ดพิจารณาภายในเดือน มี.ค.นี้ ก่อนเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยขอย้ำว่าการจัดหาเครื่องบินเป็นส่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผน เพราะเป็นการจัดหาที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นผลกระทบโควิด -19 จึงไม่ใช่ปัจจัยที่จะกระทบ และต้องชะลอแผนจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม
โดยแผนงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 ประกอบด้วย อาทิ การบูรณาการการบริหารจัดการการบินไทยและไทยสมายล์ โดยใช้หลักการบริหารจัดการแบบ Brother-Sister โดยมีการควบรวมแผนงานในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะด้านการขายและการวางแผนเส้นทางบินที่เน้นให้การบินไทยซึ่งมีประสบการณ์ด้านการขายเข้ามามีส่วนสนับสนุนมากขึ้น โดยการบินไทยจะเป็นผู้กำหนดทิศทางและกลยุทธ์ในการขายที่นั่งบนเที่ยวบินของสายการบินไทยสมายล์ทุกเส้นทางบินเริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2562 ภายใต้วิธีการ Block Space Concept ส่งผลให้ผลการดำเนินงานโดยรวม เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน
การบริหารจัดการด้านรายได้ การขายและการตลาด โดยดำเนินกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าแบบ Personalized มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม (Ancillary Revenue) เช่น รายได้จากการขาย Preferred Seatและการเพิ่มรายได้ในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เช่น การเพิ่มรายได้ของฝ่ายครัวการบินรวมทั้งเร่งดำเนินงานด้าน Digital Marketing โดยใช้ Big Data และ Data Analytic ในการวิเคราะห์ตลาดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายทาง Online รวมทั้งการขายสินค้าออนไลน์โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าที่อยู่ในระบบตลาดสินค้าออนไลน์ให้มากขึ้น
การดำเนินการขายเครื่องบินที่ปลดระวางแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีการโอนกรรมสิทธิ์เครื่องบินให้แก่ผู้ซื้อรวม 6 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแบบแอร์บัส A330-300 จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินแบบโบอิ้ง B747-400 จำนวน 1 ลำ
การพัฒนาคุณภาพการบริการให้กับผู้โดยสารในทุกจุดสัมผัสบริการ โดยได้ดำเนินการสร้างห้องรับรองพิเศษ Royal Orchid Prestige Lounge แห่งที่ 8 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายใต้แนวคิด Ecology Green Mood Concept ที่นอกจากมีความโดยเด่นในด้านความสะดวกสบายและการบริการที่มีเอกลักษณ์แบบไทยแล้ว ผู้โดยสารที่มาใช้บริการจะรู้สึกเหมือนได้พักผ่อนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งจะสามารถรองรับความต้องการและปริมาณของผู้โดยสารที่มาใช้บริการได้มากขึ้น โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครันเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความพึงพอใจสูงสุดก่อนการเดินทาง โดยได้เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562
ตลอดจนแผนทำการเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยเปิดเส้นทางบินสู่เซนได ประเทศญี่ปุ่น ศูนย์กลางภูมิภาคโทโฮคุ ซึ่งทำการบินเที่ยวบินแรกไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 โดยทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย ได้ออกประกาศปรับลดผลตอบแทนทั้งเงินเดือนและค่าเดินทาง สวัสดิการอื่น ๆ ของระดับผู้บริหาร ตั้งแต่ดีดี ลงไปรวม 15-25 % นาน 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ โดยการปรับลดเงินเดือนครั้งนี้เริ่มจากผู้บริหารระดับอีวีพี ปรับลดเงินเดือน 20 % ค่าพาหนะ 30 % วีพี ปรับลดเงินเดือน 15 % ค่าพาหนะ 20 % ส่วนดีดีลดสูงสุดเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมถึงวันที่ 30 กันยายน รวม 6 เดือนหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นอาจมีมาตรการเพิ่มเติม