- 05 มี.ค. 2563
ยังคงเป็นที่เฝ้าระวังและจับตามองอย่างใกล้ชิด สำหรับโรคปอดอักเสบชนิดรุนแรงที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ ไวรัสโควิด -19 ที่กำลังระบาดในจีน โดยเริ่มมีการรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคนี้ครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ตอนกลางของประเทศจีน จนตอนนี้โรคไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ยังกระจายไปทุกมณฑลและเขตการปกครองอื่นๆ ของจีน และหลายประเทศทั่วโลกจนมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 93,000 ทั้งยังทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 3,200 คนและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก
ยังคงเป็นที่เฝ้าระวังและจับตามองอย่างใกล้ชิด สำหรับโรคปอดอักเสบชนิดรุนแรงที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ ไวรัสโควิด -19 ที่กำลังระบาดในจีน โดยเริ่มมีการรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคนี้ครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ตอนกลางของประเทศจีน จนตอนนี้โรคไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ยังกระจายไปทุกมณฑลและเขตการปกครองอื่นๆ ของจีน และหลายประเทศทั่วโลกจนมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 93,000 ทั้งยังทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 3,200 คนและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก
ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กล่าวว่า กรรมการเชิญผู้แทนของโรงงานหน้ากากอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้เป็นกรรมการเข้ามาหารือด้วย และได้ข้อสรุปดังนี้ ภาพรวมของการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศ โดยหน้ากากที่เป็นที่ต้องการอยู่ขณะนี้คือหน้ากากสีเขียว มีโรงงานที่ผลิตได้ 11 โรง กำลังการผลิตเดือนละ 36 ล้านชิ้น หรือ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน โดยก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกันกรมการค้าภายในแบ่งหน้ากาก 600,000 ชิ้น จากโรงงานผู้ผลิตมาบริหารจัดการร่วมกัน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งกระจายออกตลาดโดยโรงงานผู้ผลิตเอง ซึ่งอาจจะทำให้ราคาแตกต่างกันในตลาด
“แต่ว่านับจากนี้ไปหน้ากากที่ผลิตได้จากโรงงานทั้งหมดจะถูกนำมาบริหารโดยศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย ตามมติ ครม. และคำสั่ง กกร. โดยมีกระทรวงสาธารณสุขบริหารร่วมกันกับกระทรวงพาณิชย์ โดยมีตัวแทนคือ รองเลขาฯ อย. องค์การเภสัชกรรม และผู้แทนจากโรงพยาบาลต่างๆ ศูนย์จึงมีหน้าที่บริหารจัดการหน้ากากทั้ง 1.2 ล้านชิ้น ให้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ”
ทั้งนี้ การประชุมยังสรุปว่าจะจัดสรรให้กระทรวงสาธารสุข 700,000 ชิ้น กระจายไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ ส่วนที่เหลือประมาณ 500,000 ชิ้น จะกระจายไปยังกลุ่มเสี่ยงอื่น รวมทั้งประชาชนทั้งประเทศ 60 ล้านคน เช่น ร้านขายยา หรือสายการบิน เช่น การบินไทย ร้านค้าส่งค้าปลีกต่างๆ รวมทั้งร้านธงฟ้า และอื่นๆ เป็นต้น โดยศูนย์กระจายหน้ากากอนามัยจะบริหารจัดการหน้ากากร่วมกันทุกวัน เพื่อตรวจสอบการกระจายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดย 700,000 ชิ้นแรก จะเร่งไปเติมสต๊อกที่ขาดไปของโรงพยาบาลก่อน และจากนั้นจะได้บริหารจัดการอีกที ซึ่ง ครม. มีความเห็นชอบแล้วที่จะให้ขายหน้ากากอนามัยที่ราคา 2.50 บาท โดยต้นทุนส่วนเกินรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระเอง
สำหรับหน้ากากนำเข้าจะมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือหน้ากากอนามัยที่มีสีเขียวที่เราใช้อยู่ขณะนี้ซึ่งจะมีอยู่ไม่มากนัก และหน้ากากทางเลือกที่จะมีรูปทรงแตกต่างกันไป สำหรับหน้ากากทางเลือก กกร. มีความเห็นว่าราคาขายปลีกนนั้นไม่ควรจะเกินไปกว่าร้อยละ 60 ของต้นทุนนำเข้า ซึ่งร้อยละ 60 นี้จะรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งหมด เช่น ต้นทุนบริหาร ค่าขนส่ง และค่าตอบแทนต่างๆ นี่เป็นตัวแรกโดยประมาณ โดยผู้นำเข้าจะต้องแสดงต้นทุนนำเข้าว่าเป็นเท่าไหร่ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่
ส่วนหน้ากากที่ผลิตโดยโรงงานทั้ง 11 โรงงาน ที่ยังคงมีเหลือในประเทศที่ขายในราคาแตกต่างกันไป จะให้เวลาผู้ประกอบการ 3 วันในการเคลียร์สต๊อก จากวันจันทร์ (9 มี.ค. 2563) เป็นต้นไปจะต้องจำหน่ายในราคา 2.50 บาทต่อชิ้น ข้อกำหนดข้างต้นนี้ไม่รวมหน้ากากผ้าที่ ครม. มีมติจัดสรรงบให้ 225 ล้านบาท เพื่อการผลิตโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน้ากากผ้าชนิดอื่นๆ ที่จะถูกผลิตในอนาคต ที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองแล้วว่ากันเชื้อโรคได้
นายจุรินทร์ ยังกล่าวว่า จะไม่มีการอนุมติให้มีการส่งออกโดยเด็ดขาด เนื่องจากหน้ากากที่ผลิตได้ในประเทศทั้ง 36 ล้านชิ้น ก็ไม่เพียงพอกับการใช้ในประเทศอยู่แล้ว แต่หากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติก็จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีหน้ากากเพียงพอ เนื่องจากความต้องการยังไม่สูงขนาดนี้ และช่วง 13.30 น. วันนี้ กรมการค้าภายในจะจัดรถโมบายออกไปจำหน่ายหน้ากากอนามัยแพ็กละ 4 ชิ้น จำนวนรวม 111 คัน สำหรับ กทม. มี 21 คัน ส่วนต่างจังหวัด 90 คัน โดยมุ่งเน้นชุมชนเมือง โดยในรถโมบายจะมีสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นอื่นๆ นำไปขายประชาชนด้วย เนื่องจากสินค้าเหล่านั้นอาจจะมีแนวโน้มขาดแคลน และจากนี้จะมีการประชุมคณะทำงานทุกวันเพื่อประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เนื่องจากหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมแล้ว ผู้ที่มีพฤติกรรมดังต่อไปนี้จะถูกดำเนินคดีในการกักตุน ได้แก่
1. เก็บสินค้าไว้ที่อื่นนอกเหนือจากที่ที่แจ้งเจ้าหน้าที่
2. ไม่นำหน้ากากที่มีอยู่ออกมาจำหน่าย
3. ปฏิเสธการจำหน่าย
4. ประวิงการจำหน่าย
5. ส่งมอบหน้ากากอนามัยโดยที่ไม่มีเหตุผลสมควร
ผู้กักตุนหรือขายที่ราคาสูงเกินสมควรที่มีเจตนาจะสร้างความปั่นป่วน (ผิดตามมาตรา 29) มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท โดยปริมาณการครอบครองสูงสุดยังไม่มีการกำหนด เนื่องจากจะเกรงว่าจะกระทบกับผู้บริสุทธิ์ทั่วไปที่จำเป็นต้องเก็บหน้ากากอนามัยไว้สำหรับปฏิบัติภารกิจ เช่น สถานพยาบาล ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงก็จะมีการเปลี่ยนคำสั่งอีก ทั้งนี้ ผู้ขายเกินราคา (แต่ไม่เกินสมควร) จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับสถานพยาบาลจะถือว่าเป็นผู้ที่จะได้รับการจัดสรรเป็นลำดับต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้บริหารจัดการให้กระจายไปให้ทั่วถึงมากที่สุด โดยไม่ให้มีสถานพยาบาลใดตกหล่น
สำหรับประกาศ กกร. วันนี้จะมี 3 ฉบับ ฉบับแรกคือ ประกาศราคาขายปลีกสูงสุดของหน้ากากอนามัย ฉบับที่สองคือ ประกาศวิธีคิดต้นทุนในการกำหนดราคาขายหน้ากากนำเข้า และประกาศที่สาม เรื่องเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งการปรับราคาต้องขออนุญาตก่อน และ 2-3 วันที่ผ่านมานี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งคนประจำโรงงานทั้ง 11 โรงแล้ว รวมทั้งจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปประจำแต่ละโรงงานด้วยเพื่อรายงานจำนวนผลผลิตจริง และจัดการการกระจายสินค้าไปยังส่วนอื่นๆ และสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตหน้ากากอนามัย มีแนวโน้มนำเข้าได้ยากขึ้น แต่ยังพอเป็นไปได้คือจากอินโดนีเซียแต่ก็จะมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ช่วยประสาน เพื่อหาแหล่งผลิตวัตถุดิบแล้ว