ครม.ไฟเขียวขยายกรอบจ่ายชดเชย ผู้ประกันตนว่างงานเหตุสุดวิสัย

ครม.จัดชุดใหญ่ ฟื้นกำลังใจผู้ประกันตน เห็นชอบดูแลกลุ่มพนักงาน ลูกจ้าง ว่างงานเหตุสุดวิสัย

สืบเนื่องจากการที่ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  ได้เร่งมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดเชื้อ โควิด-19 ในประเทศไทย และในส่วนของ สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการไปแล้ว ในหลายกรณี ประกอบด้วย
          
1. การลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และลูกจ้างมาตรา 33, 39
             – ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 13,346,143 ราย
          
2. การขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบให้แก่นายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39
             – นายจ้างได้รับประโยชน์ 488,226 ราย
             – ผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับประโยชน์ 1,653,714 ราย
          
3. การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย ทั้งยังเพิ่มสิทธิไปถึง กรณีว่างงานเนื่องมาจากกรณีถูกเลิกจ้าง และลาออกเอง
          
4. การส่งเสริมให้มีการจ้างงาน โดยขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 30,000 ล้านบาท
          
5. การดูแลรักษา ให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการ เพิ่มสิทธิการรักษาแก่ผู้ประกันตนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อ โควิด-19 เท่าเทียมกับการรักษาทั้ง 3 กองทุน

ล่าสุด  นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงผ่านรายการพิเศษรวยมใจสู้ภัยโควิด – 19 เกี่ยวกับการขยายความครอบคลุมผู้ประกันตนรับสิทธิว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล    ว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ได้ผ่านความเห็นชอบ  ว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  ได้เห็นชอบให้ขยายความครอบคลุมผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เพื่อให้ ผู้ประกันตน ที่ว่างงานจากผลกระทบจากโควิด-19 สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ดังนี้

 

ครม.ไฟเขียวขยายกรอบจ่ายชดเชย ผู้ประกันตนว่างงานเหตุสุดวิสัย

- ในกรณี ผู้ประกันตน ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19  

- (ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายความครอบคลุม) ในกรณี ผู้ประกันตน ไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วันเช่นกัน  
  
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน จะได้เร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับโดยเร็วต่อไป  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเต็มที่

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)   มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอทบทวนอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตามร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ตามร่างข้อ 2 จาก "...ให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 211 บาท" เป็น "...ให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 86 บาท"

ครม.ไฟเขียวขยายกรอบจ่ายชดเชย ผู้ประกันตนว่างงานเหตุสุดวิสัย

 

นอกจากนี้  ยังมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอทบทวนอัตราและระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน  ตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. .... ดังนี้

1. ข้อ 3 วรรคหนึ่ง จาก “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรองหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 180 วัน” เป็น “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน”

2. ข้อ 3 วรรคสอง “ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 60 วัน” เป็น “ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน”