- 24 ก.ค. 2563
3ทนายดัง เห็นตรงกัน คดี บอส อยู่วิทยา
จากกรณี "นายวรยุทธ อยู่วิทยา" หรือ "บอส" ทายาทตระกูลอยู่วิทยา ขับรถเฟอร์รารี่ไปชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2555 หลังจากนั้นบอสกลับเข้าบ้าน ตร.ตามรอยรั่วไปถึงบ้าน พ่อบ้านออกมากล่าวรับโทษเอง แต่ตร.ไม่เชื่อ ต่อมาบอสยอมรับว่าเป็นคนขับรถคันดังกล่าวเอง ตร.เรียก 7 ครั้งให้มาให้ปากคำ แต่เจ้าตัวไม่มา สุดท้ายบางคดีหมดอายุความ ล่าสุดอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีสุดท้ายที่เหลืออยู่ จนประชาชนงงเป็นไก่ตาแตกว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนยุติธรรม
โดยในรายการ โหนกระแสวันที่ 24 ก.ค. "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เปิดใจสัมภาษณ์ 3 ทนายดัง ทั้ง ทนายเจมส์ นิติธร แก้วโต , ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร , ทนายรัชพล ศิริสาคร
เรื่องเกิดมา 8 ปี จนคดีความหมดอายุความ เกิดอะไรขึ้นกันแน่ เป็นการหย่อนยานของตร.หรือเพราะอะไรกันแน่?
ทนายเจมส์ : "คือถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มีการลงโทษตร.บางท่าน พิจารณาแล้วมีการหย่อนยานกันจริง เหมือนใส่เกียร์ว่าง ป.ป.ช.ก็สั่งให้ลงโทษ ทีนี้ในกระบวนการตามกฎหมาย ออกแบบไว้อย่างดีที่สุดแล้ว ความยุติธรรมอยู่ที่ผู้ใช้กฎหมาย จะหย่อนยานหรือตึง อยู่ที่ตรงนั้น ผมพูดตามเนื้อผ้าเพราะไม่เห็นสำนวน"
ทนายรัชพลล่ะมองยังไง?
ทนายรัชพล : "จริงๆ ต้องย้อนไปวันที่เกิดเหตุ วันนั้นไม่ได้จับ ณ วันเกิดเหตุ เขาเข้าไปในบ้านก่อน พอไปในบ้านการตามหลักฐานก็เป็นขั้นตอนที่ยากนิดนึง การติดตามเอาพยานหลักฐานมา แล้วอย่างที่บอกตร.ช่วงนั้นมีการไม่ได้ติดตามโดยทันที ทำให้พยานหลักฐานจางหายไปได้"
ส่งผลถึงตอนนี้เลยเหรอ?
ทนายรัชพล : "ใช่ครับ ก็ทำให้พยานหลักฐานอ่อนลง"
ก่อนหน้านี้ที่เคยสั่งฟ้อง?
ทนายรัชพล : "สุดท้ายก็อยู่ที่อัยการ ตร.อาจสั่งฟ้อง แต่ถ้าอัยการดูหลักฐานแล้วไม่พอจะสั่งฟ้อง ก็สั่งไม่ฟ้องได้"
มี 4 ข้อหา หนึ่งขับรถขณะมึนเมา มีคำสั่งไม่ฟ้อง ปี 56 สองขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย สามขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด คดีหมดอายุความปี 56 สี่ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกชน หมดอายุความปี 60 ตั้งแต่เกิดเรื่องมาจนปี 56 เขาพิสูจน์กันนานเหลือเกินเรื่องขับรถขณะมึนเมา เอาอะไรมาพิสูจน์ตรงนี้?
ทนายรณณรงค์ : "อย่างแรกเลยนะครับ ตอนเกิดเหตุได้วัดปริมาณแอลกอฮอล์มั้ย แน่นอนคดีนี้ทำให้เกิดสำนวนนึงขึ้นมา คือสำนวนว่าเมาหลังขับ ไปวัดหลังชนไปแล้ว เขาก็อ้างว่าเขาทำใจไม่ได้ก็เลยไปดื่ม มันเลยเป็นสำนวนเมาหลังขับ ซึ่งกฎหมายเอาผิดไม่ได้ เพราะกฎหมายบอกเลยว่าต้องวัด ณ ช่วงเวลาเกิดเหตุนั้นๆ เลย แล้วปรากฎไม่มีการวัด ข้อหานี้เลยหลุดไป"
กรณีออกหมาย อัยการเคยเรียกเข้าพบ แต่มีการอ้างว่าตัวเองติดธุระมาไม่ได้อยู่ต่างประเทศ เลื่อนทั้งหมด 7 ครั้ง จนออกหมายจับเมื่อปี 60 เรื่องตั้งแต่ปี 55 แต่ออกหมายจับปี 60?
ทนายรณณรงค์ : "เป็นเรื่องปกติการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แต่ต้องบอกอย่างหนึ่งว่าต้องไปดูประชาชนคนอื่นว่าเขาถึงสิทธิ์ได้ขนาดนี้มั้ย กับการเลื่อนระยะเวลาเพื่อมารอรับทราบข้อกล่าวหา"
กรณีแบบนี้ 5 ปีในการเรียกเข้าพบ 5 ปีมีด้วยเหรอ?
ทนายรณณรงค์ : "ปกติไม่ถึงหรอกครับ ประมาณ 2 ปี ก็เยอะแล้ว นอกจากคดีมีความสลับซับซ้อน แต่คดีแบบนี้เขาเลื่อนให้เต็มที่เดือนสองเดือนเท่านั้นแหละ ไม่ได้เลื่อนยาวขนาดนั้น"
ทนายเจมส์ : "เห็นด้วยครับ อย่างคดีอื่น ออกหมายครั้งที่ 1 ให้มาพบวันที่ 15 แต่พอวันที่ 15 ไม่ได้มาพบก็ออกหมายเรียกต่อเลย หรือบางครั้งไม่ถึงวันที่ 15 เขาก็ออกหมายเรียกไว้รอก็มี"
ทนายรณณรงค์ : "อันนี้ 5 ปีไม่เป็นไรเนอะ (หัวเราะ)"
ทนายเจมส์ : "ผมไม่รู้นะ อาจมีความผิดปกติของสำนวนเขา ต้องไปถามเจ้าของสำนวนว่าทำไมถึงล่าช้า"
ถือว่าล่าช้ามั้ยในมุมทนาย?
ทนายรัชพล : "ผมว่าคดีมันแปลกตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เรื่องล่าช้าแน่นอน อย่างที่เราเห็นตรงกัน พอเกิดเหตุปุ๊บ ออกหมายเรียก สองครั้้งไม่มาออกหมายจับแล้ว ไม่ต้องออกถึง 7 ครั้งหรอกครับ"
นับเวลาที่เกิดเหตุ วันที่ 3 ก.ย. ปี 2555 ขับรถไปชน หลังจากนั้นออกหมายเรียก 5 ปี?
ทนายรณณรงค์ : "ก็คดีจราจรทั่วไป ถ้าไม่ได้ชนแล้วหนี ไม่กี่เดือนก็ขึ้นศาล แต่นี่ 5 ปีก็ไม่นานครับ (หัวเราะ)"
3 คดี เราทำอะไรไม่ได้เพราะหมดอายุความ ล่าสุดขับรถโดยประมาท ขับรถชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย ล่าสุดอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง เรื่องทั้งหมดต้องอยู่ที่อาญาใต้ เพราะเกิดในพื้นที่ทองหล่อ
อธิบดีอาญาใต้ต้องเป็นคนสั่ง วันนี้ทำไมเรื่องกระโดดไปอยู่ตรงอัยการสูงสุด อยากรู้คำตอบตรงนี้?
ทนายเจมส์ : "ในกระบวนการทางกฎหมาย กรณีพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว เขาจะส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมกับสำนวนและความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าสมควรสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง ส่งไปที่อัยการ พนักงานอัยการถ้าเห็นพ้องด้วยกับตร. คดีก็สั่งฟ้องไป แต่ถ้าเห็นต่าง เช่น ตร.สั่งฟ้อง อัยการบอกไม่สั่งฟ้อง สำนวนจะถูกส่งไปที่งานกองคดี สำนวนตำรวจแห่งชาติเพื่อตรวจสอบอีกรอบนึง เพื่อให้ชี้ขาด"
ก่อนหน้านี้มีการสั่่งไปแล้ว พอสั่งไปแล้วอยู่ดีๆ มาเปลี่ยนแบบนี้?
ทนายรณณรงค์ : "รอฟังโฆษกสำนักงานตร.แห่งชาติแถลงอยู่ ข้อหนึ่งสองสามพอรับได้เรื่องอายุความ แต่เรื่องประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อะไรเป็นเหตุผลให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง นี่กำลังรอฟังอยู่ เพราะตรงนี้เป็นประเด็นที่หลายคนตั้งคำถาม อย่าลืมนะว่าคนตายเป็นเจ้าหน้าที่ตร. และอยู่ระหว่างการปฏิบัติงานด้วย เสียชีวิตไปเอาผิดใครไม่ได้ เรื่องใหญ่นะ"
ทนายรัชพล : "ทุกคนไม่รู้ว่าทำไมถึงสั่งไม่ฟ้อง อัยการต้องออกมาแถลงหน่อยว่าทำไม อย่างที่ตร.แถลงไปเมื่อเช้าก็ไม่ชัดเจน ยังไม่ทราบเลยว่าทำไมถึงสั่งไม่ฟ้อง ทุกคนสรุปไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่เท่าที่ดูมีเหตุผลเดียวที่จะไม่ฟ้องคือมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ"
เป็นไปได้มั้ยว่าครอบครัวบอสอาจไปร้องขอความเป็นธรรม เรื่องทั้งหมดก็ถูกย้ายไปที่อัยการสูงสุด ท่านรองอัยการสูงสุดเป็นคนดูตรงนี้ เป็นไปได้มั้ยอาจมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมขึ้นมาจึงสั่งไม่ฟ้อง แต่ตร.สามารถแย้งได้มั้ย?
ทนายรณณรงค์ : "แย้งได้สิ พอแย้งก็ขึ้นไปสำนักงานอัยการสูงสุดตัดสินอีกที แต่ตอนนี้คนตัดสินเรื่องการแย้งบอกว่าสั่งไม่ฟ้องมันก็จบแล้ว"
ทนายรัชพล : "สุดท้ายอัยการสูงสุดสั่งว่าไม่ฟ้อง มันก็จบแล้ว"
เรื่องนี้ถึงแค่รองอัยการ?
ทนายรณณรงค์ : "ปฏิบัติหน้าที่แทน เรื่องถึงได้จบทีนี้ก็ต้องเหตุผลว่าเพราะอะไร อันนี้ต้องบอกอย่างหนึ่ง รัฐทำให้เราไม่ได้ เราต้องไปทำเอง"
ครอบครัวผู้เสียหายแย้งได้มั้ย?
ทนายรัชพล : "ไม่ได้ จบแล้วครับ คดีทางอาญาหน่วยงานรัฐจบแล้ว ถ้าจะฟ้องก็ไปฟ้องเอง จ้างทนายเอา"
เท่านั้นเหรอ?
ทนายรณณรงค์ : "ใช่ครับ กระบวนการยุติธรรมไม่ทำให้เรา เราก็ไปทำเอง"
ทนายเจมส์ : "กฎหมายบอกว่าหมดสิทธิ์แล้ว พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการไปยุ่งเกี่ยวกับคดีนี้ไม่ได้แล้ว"
อยู่ที่ครอบครัวดาบว่าจะยื่นฟ้องเองมั้ย?
ทนายรณณรงค์ : "ใช่ จะใจถึงมั้ย"
เป็นไปได้มั้ยอาจมีหลักฐานใหม่ พิสูจน์ว่าคุณบอสไม่ได้ประมาท เขาเลยไม่ฟ้อง?
ทนายรณณรงค์ : "หลักฐานการฟ้องเขาก็ใช้ชุดเดิมทำกันมาตั้ง 7-8 ปีก่อน ถ้าจะสั่งไม่ฟ้องก็ต้องทำตั้งแต่ 7-8 ปีก่อน ไม่ใช่รอ 8 ปีให้หลัง หลักฐานใหม่จะมีอะไรล่ะ มันตั้ง 7-8 ปีแล้ว สำนวนก็ตัวเดิม พิสูจน์กี่รอบก็ต้องได้อย่างเดิม บิดเบี้ยวไม่ได้ ถ้าเจอใหม่แสดงว่ามีอะไรที่มันแปลก การจะบอกว่าบริสุทธ์หรือไม่ เราทำคดีมาเยอะ ลูกความเราไม่เห็นได้สิทธิ์ขนาดนี้เลย ไอ้สิทธิที่ว่าไม่ต้องไปสู้ในศาล น้อยมากเลย จริงๆ อยากเรียกร้องให้กรรมาธิการตร. เรียกสำนวนอัยการมาดูทั้งประเทศเลยว่ามีคดีแบบนี้กี่สำนวนกันแน่ ผมคาใจ ผมคิดว่านักกฎหมายหลายคนก็คาใจประเด็นนี้ อย่าลืมนะว่ากฎหมายบังคับใช้กับทุกคน หลังจากนี้เราก็ต้องไปอธิบายชาวบ้านให้ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงสั่งไม่ฟ้อง และไม่ฟ้องประเด็นไหน เราจะได้ศึกษาสำนวน เวลาลูกความมาปรึกษาเรา เราจะได้ไปในแนวทางนี้บ้าง"
วันนี้ถือว่าคุณบอสเป็นผู้บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว?
ทนายเจมส์ : "ยังนะครับ ถ้าในแง่อัยการกับพนักงานสอบสวนนี่ใช่ คำว่าผู้ต้องหาใช้กับเขาไม่ได้แล้ว แต่ในส่วนสิทธิของทายาทคนตาย ยังมีสิทธิ์ในการดำเนินคดีกับเขาได้"
ถ้าเขามีการดูแลชดเชยในมุมทายาท ยอมความหมดแล้วถือว่าจบมั้ย?
ทนายเจมส์ : "ถือว่าจบ เพราะทายาทไม่ใช้สิทธิ์ ไม่ติดใจก็ถือว่าจบ"
เขาสามารถเข้าเมืองไทยได้แล้ว?
ทนายเจมส์ : "เข้าได้ตั้งแต่หมายจับถูกถอนแล้ว"
ทนายรณณรงค์ : "เข้าได้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว ตั้งแต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง"
ทำไมเราถึงเพิ่งรู้?
ทนายรณณรงค์ : "นั่นน่ะสิครับ เราก็อยากรู้ เป็นคดีที่ประชาชนสนใจ แค่แจ้งเข้ามาว่าคดีจบแล้วนะ ไม่ต้องตาม เราจะได้ไม่ต้องถาม เราแค่อยากรู้"
คดีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานคดีต่อไปมั้ย?
ทนายรัชพล : "ไม่หรอกครับ คดีนี้มันเป็นคดีเดียวที่แปลก คดีอื่นไม่ได้เป็นแบบนี้"
ทนายรณณรงค์ : "เรื่องมันตัดจบตรงนี้ ไม่ได้ไปจบที่ศาล ถ้าจบที่ศาล โอเค สังคมเคารพได้ว่าคุณบอสไม่ผิด แต่พอเป็นแบบนี้ ทางสังคมมันไม่เคลียร์ตัวเอง ผมว่ามันก็ลำบาก อยากให้เข้าสู่กระบวนการศาลเพื่อชี้ชัดให้ชัดเจน ไม่ควรมาจบที่ชั้นอัยการแบบนี้ คดีเหลืออีกตั้งหลายปี"
ทนายรัชพล : "ก็อยู่ที่ทายาทเขาว่าจะติดใจเอาความหรือเปล่า ตอนนี้สามารถไปฟ้องได้อยู่"
ทนายเจมส์ : "ปัญหาที่มันติดอยู่คือพยานหลักฐานที่อยู่ในสำนวน ขนาดตร.มีอำนาจในการแสวงหาพยานหลักฐานทั้งปวงยังยาก ราษฎรอย่างเราจะมีอำนาจอะไร บางทีไม่ได้รับความร่วมมือ มันก็ยากหน่อย"
อย่างคำว่าเมาหลังขับ?
ทนายรณณรงค์ : "ถ้าคดีนี้อ้างได้ ต่อไปคดีอื่นก็อ้างได้ เขาบอกเขาเครียดแล้วก็ดื่ม ผมก็ดูในข่าวนี่แหละ (หัวเราะ) ในทางกฎหมายถ้าไม่ได้เจอในขณะควบคุมยานหาหนะ แล้วไปตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ อัยการสั่งไม่ฟ้องก็ถูกต้องแล้ว เพราะเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.จราจรทางบก ต้องเจอตัวขับขี่อยู่ ควบคุมตัวเอามาวัดปริมาณแอลกอฮอล์เดี๋ยวนั้น ถ้าเขาไม่วัด ก็สันนิษฐานว่าอาจจะเมา"
ก่อนหน้านี้เราได้ยินข่าวว่ามีเสี่ยคนนึงขับรถไปชนครอบครัวตร.เสียชีวิตทั้งภรรยา-สามี เสี่ยดูแลลูกเป็นอย่างดี ให้เงินช่วยเหลือ คดีนั้นก็จบ ทำไมคดีนี้เป็นแบบนั้นไม่ได้?
ทนายรณณรงค์ : "เทียบกันไม่ได้ คดีรถเบนซ์ ชนปุ๊บขับหนีไม่ได้ ตร.เลยเอาตัวไปเป่าปริมาณแอลกอฮอล์ได้รวดเร็ว ไวมาก แต่คดีนี้ชนเสร็จเข้าบ้านไง การตรวจวัด รวบรวบหลักฐานจึงแตกต่างกัน พฤติกรรมคดีเทียบกันไม่ได้เลย"
ทนายเจมส์ : "ตามพ.ร.บ.จราจร มีโทษทางอาญา ซึ่งต้องพิจารณาตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด เขาบอกว่าเมาขณะขับขี่ ทีนี้เขาจอดแล้วรถอยู่ในบ้านนานพอสมควรแล้ว แล้วอ้างว่าดื่มเองอะไรเอง เลยไม่มีอะไรไปพิสูจน์ได้ชัดเจน เพราะเขาไม่ได้เมาขณะขับ"
ตอนนี้เรื่องทั้งหมดไม่ได้ไปขึ้นไปสู่ชั้นศาล มันจบไปก่อน?
ทนายรณณรงค์ : "ท่านอัยการหลายงานแล้วนะครับ ที่เป็นคดีคลางแคลงในสังคม อยากให้ท่านชี้แจงให้กระจ่างด้วยนะ อย่าลืมว่าท่านต้องไปสอนนักกฎหมาย ที่เป็นนักศึกษาอีกหลายคน หยิบคดีนี้มาสอนหน่อย อยากฟัง อยากรู้มาก"
ผมว่าอาจไปเจอข้อเท็จจริงใหม่?
ทนายเจมส์ : "ในกระบวนการทางกฎหมาย พนักงานสอบสวนมีหน้าที่แสวงหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิด ขณะเดียวกันเขาก็มีหน้าที่แสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วย ประเด็นนี้เป็นสิทธิของผู้ต้องหาคดีนั้นๆที่จะเอาพยานหลักฐานใหม่ หรือร้องขอให้พนักงานสอบสวน พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนนั้นเพิ่มเติมก็ได้ อันนี้สามารถทำได้หมด"
ขอถามความรู้สึก 3 ทนายความ คดีนี้ให้ข้อคิดยังไง?
ทนายรณณรงค์ : "ผมรู้สึกเสียใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เสียใจที่จบแบบนี้ ถ้าไปจบที่ศาล ผมเชื่อว่าทุกคนจะรับได้ เพราะศาลตรวจสอบทุกอย่างแล้ว แบบนี้ให้ความรู้สึกแบ่งชนชั้นหรือเปล่าผมไม่ทราบ แต่ผมรู้สึกแบบนั้น"
ทนายรัชพล : "ผมก็เสียใจกับทางญาติผู้เสียชีวิต เมื่อกระบวนการออกมาอย่างนี้ เหลือช่องทางเดียวคือไปฟ้องเองซึ่งมันก็ยากเหมือนกัน ยังไงก็เป็นกำลังใจให้ทางญาติผู้เสียชีวิต"
ทนายเจมส์ : "ในกระบวนการยุติธรรมมีระเบียบกฎเกณฑ์ มีเครื่องไม้เครื่องมือ เอาไว้จัดการกับผู้กระทำผิด พิสูจน์ความผิดผู้กระทำผิด แต่ถ้าเข้มงวดกับทุกคน หรือหย่อนยานเฉพาะบางคน จะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น ถ้ามีบรรทัดฐานแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ มันก็ไม่ดี"
ขอบคุณข้อมูลจากรายการโหนกระแส