ศูนย์วิจัยโรคปรสิต โพสต์ภาพพยาธิใบไม้เกาะผ้าขี้ริ้ว ใครใคร่กินก็กินถ้าทำใจได้

ศูนย์วิจัยโรคปรสิต โพสต์ภาพพยาธิใบไม้เกาะผ้าขี้ริ้ว ใครใคร่กินก็กินถ้าทำใจได้

วันที่ 9 สิงหาคม 2563 บนเฟซบุ๊กเพจ PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยแพร่ภาพพยาธิใบไม้กระเพาะที่เกาะอยู่ตามผ้าขี้ริ้วของวัว ควาย และเป็นหนึ่งในอาหารโปรดของใครหลายๆคน พร้อมเผยแพร่ความรู้เกี่้ยวกับพยาธิชนิดนี้ ระบุ
 

พยาธิใบไม้กระเพาะ (ผ้าขี้ริ้ว)

พอดีมีเพื่อนสมาชิกส่งมาถามว่าที่พบนี้คืออะไร โดยปกติในคนเอง ทางการแพทย์ก็ไม่ค่อยได้สนใจกลุ่มพยาธิเหล่านี้ เนื่องจากมีรายงานการก่อโรคหรือติดเชื้อในคนน้อยกับพยาธิใบไม้กระเพาะ

เคยมีรายงานติดเชื้อ Fischoederius elongatusในคนที่จีน ทำให้มีอาการปวดแน่นท้องอยู่หลายเดือน (Yu & Mott, 1994)

แต่ถ้าเป็นทางสัตวแพทย์ ท่านก็จะเจอบ่อยกับพยาธิใบไม้กระเพาะในกลุ่ม Paramphistome เช่น Paramphistomum cervi, P. microbothrium, Cotylophoron cotylophoron, Gastrothylax spp., Fishoederius spp., และ Calicophoron spp. (Sanguankiat et al., 2016)

พยาธิใบไม้กระเพาะ ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่ Rumen หรือกระเพาะผ้าขี้ริ้ว เป็นกระเพาะส่วนแรกที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ก็มีบางชนิดอาศัยที่ตับและท่อน้ำดี เช่น Explanatum explanatum

พยาธิเหล่านี้จะพบได้ในวัว ควาย แพะ แกะ จากการกินหญ้าและพืชผักที่อยู่ในน้ำที่มีระยะติดต่อเกาะอยู่ ตัวที่พบมากในประเทศไทยคือ P. cervi (Chethanon et al., 1985; Prasitirat et al., 1997)

กับคำถามที่ว่าแล้วถ้าคนกินตัวพยาธิเข้าไปล่ะ ที่ไม่ใช่ระยะติดต่อ จะเป็นอะไรหรือไม่ ก็เคยมีรายงานเกี่ยวกับคำถามที่ว่านี้ Sarmah และคณะ (2014) รายงานว่าที่อินเดียก็พบพยาธิกลุ่มนี้เยอะ และนำมาวิเคราะห์ทางชีวเคมีของพยาธิ มีโปรตีนรวม 12.60% ไขมัน 0.78% และเถ้า 0.87% การนำมาทำอาหารโดยที่มีพยาธิเกาะปนอยู่กับกระเพาะอาหารไม่มีผลร้ายใดๆ ก็มีแต่จะกลายเป็นคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า ก็ว่ากันไป ถ้าใครรับได้เมื่อยามเห็นตัวพยาธิแต่ไม่เขี่ยออก ถึงแม้นจะสุกปานใด ทำใจได้ก็เชิญจ้า

 

ศูนย์วิจัยโรคปรสิต โพสต์ภาพพยาธิใบไม้เกาะผ้าขี้ริ้ว ใครใคร่กินก็กินถ้าทำใจได้

 

ขอบคุณ PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี