- 22 ส.ค. 2563
ชายคนนี้ อาศัยอยู่กลางสนามบินอย่างโดดเดี่ยว แม้จะได้ข้อเสนอถึง 50 ล้าน เขาก็ไม่ยอม
ครอบครัวของ ทาคาโอะ ชิโตะ ปลูกผักอยู่ในสวนแห่งนี้มานานกว่า 100 ปี ปู่ของเขาเป็นเกษตรกร พ่อรับช่วงต่อ และเวลานี้ก็เป็นรุ่นที่สามอย่างทาคาโอะที่มาสืบสาน แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ สวนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งหมู่บ้าน 28 ครัวเรือน มีเรือกสวนไร่นาล้อมรอบ เวลานี้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางสนามบินนาริตะ สนามบินใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น เครื่องบินจากทั่วโลกขึ้นลงติดกับสวนของเขาตลอด 24 ชม. ทางเข้า-ออกเดียวคือต้องผ่านอุโมงค์ใต้ดิน สภาพแบบนี้ ไม่ว่าใครคงทนอยู่ไม่ไหว แต่ไม่ใช่ทาคาโอะ ชิโตะ ที่ขึ้นโรงขึ้นศาลต่อสู้รักษาสมบัติบรรพบุรุษแห่งนี้มานานกว่า 20 ปี โดยไม่ยอมรับเงินชดเชย 180 ล้านเยน
เมื่อครั้งญี่ปุ่นเริ่มก่อสร้างสนามบินนาริตะปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ รวมตัวกันก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ในชื่อ Sanrizuka สนามบินเสนอค่าชดเชยแก่เกษตรให้ย้ายออก หมู่บ้านของทาคาโอะ มี 28 ครัวเรือน ส่วนหมู่บ้านข้างกัน มี 66 ครัวเรือน พวกเขาส่วนใหญ่รับค่าชดเชยและย้ายออกไปทีละราย เว้นโตอิชิ พ่อของทาคาโอะ กับเกษตรกรอีกหยิบมือที่ยังดื้อแพ่ง ทั้งยังดื้อกว่าใคร เพราะขณะที่ส่วนใหญ่ถูกกล่อมจนพอใจมูลค่าที่ดิน แต่โตอิชิ ชิโตะ ไม่สนใจไม่ว่าเงินกองตรงหน้าจะมากแค่ไหน
เมื่อพ่อถึงแก่กรรมในวัย 84 ลูกชายในวัย 48 วางมือจากธุรกิจร้านอาหาร กลับไปปกป้องบ้านสวนแทนพ่อ ทาคาโอะต่อสู้ทางกฎหมายหลายยก ไม่ยอมให้ทางการบังคับยกที่ดินที่ตระกูลทำสวนมากกว่า 100 ปี จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิพลเรือน อาสาสมัครและนักเคลื่อนไหวหลายคนเข้ามาเป็นแรงสนับสนุน
“ผมได้รับข้อเสนอเงินชดเชยหากย้ายออกจากฟาร์ม 180 ล้านเยน(ราว 53.7 ล้านบาท) นั่นเท่ากับค่าแรงเกษตรกร 150 ปีเลย แต่ผมไม่สนเงิน อยากทำสวนต่อไป ไม่เคยคิดทิ้งที่นี่” ทาคาโอะบอกผ่านสารคดีสั้นของบีบีซีเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้
CR.คมชัดลึก / BBC