- 22 ก.ย. 2563
หัวอกคนเป็นแม่รับไม่ได้ เห็นภาพจากหนังสือเรียนของลูก ดูดพิษงูหลังถูกกัด
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่ได้เห็นภาพในหนังสือเรียนของลูก โดยเป็นภาพของลูกเสือกำลังปฐมพยาบาลด้วยการดูดพิษจากแผลของเพื่อนที่ถูกงูกัด ซึ่งล่าสุด อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า...
"งูกัด ห้ามดูดพิษ-กรีดแผล-ขันชะเนาะ-ไฟจี้ นะครับ"
มีผู้ปกครองท่านหนึ่ง แชร์รูปจากหนังสือเรียนของลูก เป็นภาพของ ลูกเสือกำลังปฐมพยาบาลด้วยการดูดพิษจากแผลของเพื่อนที่ถูกงูกัด ?? ... จริงๆ แล้ว เป็นความเชื่อเก่าที่ผิดๆ ไม่ควรทำตามนะครับ !!
เข้าใจว่าภาพดังกล่าวน่าจะมาจากหนังสือ มานีชูใจ ซึ่งเขียนขึ้นมานานแล้วตั้งแต่สมัยผมยังเด็กๆ ด้วยซ้ำ และแน่นอนว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเรื่องงูกัดนั้น ยังไม่ถูกต้อง ไม่เหมือนที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้
กระทรวงสาธารณสุข เคยมีการให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากอันตรายของสัตว์มีพิษ ไว้ดังนี้
- การกรีดแผล หรือใช้ไฟจี้แผล หรือใช้ปากดูดพิษงูออกจากแผล หรือพอกยาพอกสมุนไพรในแผลที่ถูกงูกัดนั้น เป็นความเชื่อที่ผิด ไม่มีประโยชน์ในการลดพิษ และอาจทำให้ติดเชื้อได้
- รวมทั้งไม่ควรทำการขันชะเนาะด้วย เพราะเพิ่มความเสี่ยงเกิดเนื้อเน่าตาย .. หากเป็นงูที่มีพิษต่อระบบประสาท มีรายงานว่าผู้ป่วยอาจอาการแย่ลงจนเกิดภาวะหายใจวายทันที หลังคลายการขันชะเนาะ จึงไม่ควรทำ
- วิธีที่ถูกต้องคือ ขอให้ตั้งสติและสังเกตลักษณะของงู
- รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือโทรแจ้ง 1669
- ล้างบริเวณที่ถูกงูกัดด้วยน้ำสะอาด
- เคลื่อนไหวบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจ อาจดามด้วยแผ่นไม้หรือวัสดุแข็งแล้วใช้ผ้าพันแผลยางยืดรัดให้แน่น เพื่อประคองให้ส่วนที่ถูกกัดอยู่นิ่งที่สุด
- ไม่จำเป็นต้องรอจับงูที่กัดมาด้วย เพราะจะเสียเวลาในการรักษา แพทย์สามารถให้การรักษาได้จากอาการและการสอบถามลักษณะงูที่กัดจากผู้ป่วย
ปล. หวังว่าในชั่วโมงเรียนลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ครูผู้สอนจะสอนวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่ตามความเชื่อที่มีกันมานะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์