- 12 ต.ค. 2563
กรมทางหลวง ประกาศข่าวดี คาดการก่อสร้างขยายถนนพระราม 2 จะเสร็จสมบูรณ์เดือน ธ.ค.นี้
วันที่ 12 ตุลาคม 2563 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี กรมทางหลวง (ทล.) ยืนยันถึงความคืบหน้า งานก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข 35 หรือถนน พระราม 2 โดยภาพรวมทั้ง 3 ตอน ขณะนี้คืบหน้าร้อยละ 83 โดยปัจจุบัน เหลืองานก่อสร้างสะพานกลับรถเกือกม้า 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคมปีนี้ ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน กรมทางหลวง ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ให้มีการเปิดผิวช่องจราจรบนถนนพระราม 2 ให้ครบทั้ง 14 ช่องจราจร หลังจากงานก่อสร้างในส่วนการขยายช่องจราจร จาก 10 ช่องจราจร เป็น 14 ช่องจราจรแล้วเสร็จ ส่งผลให้ปัญหาการจราจรติดขัด ลดลงอย่างมาก
โดยในการแก้ไขปัญหา การจราจรติดขัด บนถนนพระราม 2 กรมทางหลวง ยังได้นำแนวทางของกระทรวงคมนาคม ในการใช้แนวทาง 6 มิติ มาแก้ปัญหา โดยส่วนแรก เป็นการ จัดการตั้งเครื่องกั้น หรือ แบริเออร์ ในช่วงถนนที่มีการก่อสร้างให้เป็นระเบียบปลอดภัย , ให้ผู้รับเหมางานระดมเครื่องจักรเข้าพื้นที่ และทุกจุดที่มีการปิดถนนเบี่ยงการจราจร ต้องมีการก่อสร้างจริง ไม่มีการปิดพื้นที่เพื่อรองาน ซึ่งก็ทำให้การปัญหาจราจรติดขัดเบาบางลงมาก
ขณะเดียวกันกรมทางหลวง ยืนยันถึงความจำเป็นในการก่อสร้าง ทางยกระดับ บนถนนพระราม 2 หรือทางมอเตอร์หมายเลข 82 จากบางขุนเทียนไปถึงบ้านแพ้ว เนื่องจากถนนพระราม 2 จะเป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทางสู่ภาคใต้ ที่ มีปริมาณจราจรรถเพิ่มขึ้นทุกปี และกรมทางหลวง ต้องมีการวางแผนเพิ่มผิวจราจรล่วงหน้า เพราะงานก่อสร้าง จะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี โดยการขยายเพิ่มทางยกระดับถึงบ้านแพ้ว จะทำให้ผู้ใช้ทาง มีผิวจราจรเพิ่ม รวมเป็น 20 ช่วงจราจร สำหรับงานก่อสร้างทางยกระดับช่วงแรก คือช่วงบางขุนเทียน ถึงเอกชัย ระยะทาง 10 กิโลเมตร ปัจจุบันคืบหน้าร้อยละ 11.39คาดว่า จะแล้วเสร็จ ในปี 2565
ส่วนการต่อขยายเส้นทาง ถึง บ้านแพ้วอีก 16 กิโลเมตรนั้น จะเริ่มงานก่อสร้างในปี 2565 แล้วเสร็จ ในปี 2567 ซึ่งเมื่อนำระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น หรือ M-FLOW มาใช้ ก็จะทำให้การเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างทางยกระดับพระราม 2 กับทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง –วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ในปี 2567 เช่นกัน จะทำให้ผู้ใช้ทางสามารถขับรถวิ่งต่อเชื่อมแบบไร้รอยต่อ โดยไม่ต้องมีด่านเก็บเงินมากั้นเป็นระยะ ทำให้การจราจรบนทางพิเศษ คล่องตัวมากขึ้น