- 31 ต.ค. 2563
นักวิจัยเตือน เตรียมรับมือ "ภัยแล้งครั้งใหญ่" อาจกินระยะเวลานานถึง 2 ทศวรรษหรือนานกว่านั้น
ซิดนีย์, 30 ต.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลียกล่าวเตือนประชาคมโลกเตรียมรับมือกับภัยแล้งครั้งใหญ่ยิ่งกว่าในอดีต ซึ่งอาจกินระยะเวลานานถึง 2 ทศวรรษหรือนานกว่านั้น หลังจากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงต่อเนื่องพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรง
วันศุกร์ (30 ต.ค.) มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (UQ) ของออสเตรเลียเผยแพร่รายงานฉบับใหม่ ซึ่งอ้างอิงบันทึกทางธรณีวิทยาจากยุคอีเมียน (Eemian Period) หรือราว 129,000-116,000 ปีก่อน เพื่อสร้างแบบจำลองสภาพแวดล้อมที่โลกอาจต้องเผชิญในช่วง 20-50 ปีข้างหน้านี้
“ยุคอีเมียนเป็นยุคล่าสุดของประวัติศาสตร์โลกที่มีภูมิอากาศใกล้เคียงหรืออาจอบอุ่นกว่าปัจจุบันเล็กน้อย” เฮมิช แมกโกแวน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฯ กล่าว
เมื่อพิจารณาสภาพภูมิอากาศในยุคดังกล่าวผ่านขั้นตอนทางภูมิอากาศบรรพกาลวิทยา (paleoclimatology) คณะนักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่าโลกอาจจะเผชิญภาวะขาดน้ำรุนแรงยิ่งขึ้น มีหิมะปกคลุมช่วงฤดูหนาวน้อยลง รวมถึงเกิดไฟป่าและการกัดเซาะจากลมบ่อยครั้งขึ้นในช่วง 20-50 ปีข้างหน้า
คณะนักวิทยาศาสตร์ย้อนดูสภาพแวดล้อมโลกในอดีตด้วยการศึกษาตัวอย่างผงแคลเซียมคาร์บอเนตขนาดเล็กของหินงอกภายในถ้ำ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถระบุช่วงที่มีฝนตกน้อยอย่างมีนัยสำคัญในยุคอีเมียน
“ความอบอุ่นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นเป็นการตอบสนองต่อแรงโคจรของโลก ซึ่งเป็นผลกระทบต่อภูมิอากาศอันมีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ต่อองศาการเอียงของแกนโลกและเส้นวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก” แมกโกแวนอธิบาย
“ในยุคใหม่ โลกอบอุ่นขึ้นเนื่องจากมีก๊าซเรือนกระจกในปริมาณหนาแน่น แต่ยุคอีเมียนยังคงเป็นตัวเปรียบเทียบที่ดีสำหรับการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้”
ภัยแล้งครั้งใหญ่ในอดีตเกี่ยวพันกับการที่คนหมู่มากต้องอพยพออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และคาดว่าส่งผลต่อการสูญสิ้นของอารยธรรมหลักก่อนยุคอุตสาหกรรมหลายแห่งทั่วทวีปอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“การค้นพบครั้งนี้น่าตื่นตระหนกมาก เช่นเดียวกับการค้นพบครั้งอื่นๆ ที่บรรดานักวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศออกมาเผยแพร่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา”
“เราหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นข้อมูลเชิงลึกชุดใหม่ที่ทำให้เราตระหนักถึงสภาพภูมิอากาศของโลกในอนาคตและภยันตรายที่อาจตามมา เช่น ภัยแล้งและไฟป่า”