- 28 พ.ค. 2563
สภาพัฒน์ แถลงภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกปี 63 เผชิญมรสุมใหญ่โควิด ภัยแล้ง
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงข่าวรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ทั้งประเด็น อัตราการว่างงาน หนี้สินครัวเรือน เริ่มจากช่วงไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ผู้มีงานทำ 37,424,214 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่มีความรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการศึกษา
ส่วนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังไม่แสดงผลกระทบในจำนวนการจ้างงานภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากนัก เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ และผู้ประกอบการยังรอดูสถานการณ์ของผลกระทบ
อย่างไรก็ตามมีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต่อการจ้างงานคือ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไป/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 9.0 นอกจากนั้น สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ในการหยุดกิจการชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน
ขณะที่ผู้ว่างงานมีจำนวน 394,520 คน หรือ คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.03 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.92 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีจำนวน 170,144 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และมีผู้ว่างงานแฝงจำนวน 448,050 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานแฝงร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ผลิตภาพแรงงานลดลงร้อยละ 1.0 เป็นการลดลงจากทั้งภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม
สำหรับปัจจัยที่กระทบต่อการจ้างงาน ในปี 2563 ประกอบด้วย 1. การแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการประเมินผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงาน พบว่า แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่ง และการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน
(2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะได้รับผลกระทบจากตั้งแต่ก่อน COVID-19 จากสงครามการค้า และต่อเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าขายในประเทศยังขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม หรือของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน และ
(3) การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐจากการปิดสถานที่ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน
2. ผลกระทบจากภัยแล้งต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ภาวะภัยแล้งตั้งแต่กลางปี 2562 และต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 370,000 คน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี โดย ณ เดือนเมษายน ได้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 26 จังหวัด และมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำน้อยและไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 2.1 ล้านคน รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน
พร้อมคาดว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 และปัญหาภัยแล้งต่อการจ้างงาน การว่างงาน จะปรากฏผลชัดเจนเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสที่สอง และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3-4 หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน เนื่องจาก (1) สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้และในครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น (2) รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และ (3) ภาคเกษตรกรรมจะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วนแม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง
ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปในปี 2563 ประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ 1. ความครอบคลุมของมาตรการช่วยเหลือ ทั้งแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยมีเป้าหมายทั้งสิ้น 37 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 10 ล้านราย กลุ่มผู้ประกันตน 11 ล้านราย กลุ่มอาชีพอิสระ 16 ล้านราย ซึ่งต้องพิจารณาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว
2. การติดตามภาวะการเลิกจ้างและการว่างงาน แม้ว่าปัจจุบันมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม แต่แรงงานบางกลุ่มจะยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้เช่นเดิม เช่น แรงงานในภาคการท่องเที่ยว แรงงานในอุตสาหกรรมส่งออก เช่น รถยนต์ ฯลฯ เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศลดลง และการท่องเที่ยวยังเชื่อมโยงกับมาตรการของต่างประเทศด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างงานต่อได้จะมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้าง ขณะเดียวกันในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม คาดว่าจะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 520,000 คน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงาน และจ้างงานที่เพียงพอเพื่อรองรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะหางานทำไม่ได้
3. การเตรียมความพร้อมของแรงงานเพื่อรองรับการฟื้นตัว ในช่วงการระบาดของเชื้อ COVID-19 ผู้ประกอบการ/ธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน/ติดต่อสื่อสารมากขึ้น ทำให้การทำงานบางประเภทไม่ถูกจำกัดในเรื่องสถานที่ ซึ่งแรงงานจะต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะปรับทักษะเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจ หรือการสร้างทักษะใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพหรือลักษณะการทำงาน
ขณะที่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนพบว่าชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน แต่คุณภาพสินเชื่อก็มีแนวโน้มแย่ลง โดยในไตรมาสสี่ปี 2562 สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย มีมูลค่า 13.47 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 ชะลอลงจากร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการปรับตัวลดลงในสินเชื่อทุกประเภท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 79.8 สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าการชะลอตัวของหนี้สินครัวเรือน ด้านภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลง โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีมูลค่า 156,227 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.23 ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.90 ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อทุกประเภทด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ
ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทางลบอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร โดยภาครัฐได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผ่านหลายช่องทาง ในส่วนของปัญหาหนี้สินและสภาพคล่องของประชาชนได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและบรรเทาภาระค่าครองชีพต่างๆ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่มีศักยภาพและไม่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน
อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการระยะสั้นและมุ่งบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเตรียมแผนการดำเนินงานและมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นช่วยเหลือฟื้นฟูและยกระดับรายได้ของครัวเรือนอย่างชัดเจนเพื่อให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินของแต่ละครัวเรือน รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ให้สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ครัวเรือนได้เพื่อชดเชยรูปแบบหนี้ที่เน้นการอุปโภคบริโภค