ครม.เคาะงบ 6.1 หมื่นล้านประกันรายได้ชาวสวนยาง-ชาวนา

ครม.เคาะงบ 6.1 หมื่นล้านประกันรายได้ชาวสวนยาง-ชาวนา

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 ที่โรงแรมสแปลช บีช รีสอร์ต ไม้ขาว จ.ภูเก็ต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ว่า  ที่ประชุมครม.ร่วมกันมีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 และโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563-2564 รอบที่ 1 ประกอบด้วยมาตรการอื่นๆ วงเงินรวมจำนวน 61,193.96 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท  ขณะที่โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวฯ และมาตรการคู่ขนาน วงเงิน 51,248.14 ล้านบาท ทั้งนี้เราต้องปรับลดงบประมาณบางรายการ ในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอสำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรดังกล่าว ซึ่งนี่คือปัญหาของเราที่ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการดูแลเกษตกร เพราะมีเกษตรกรปลูกพืชหลักต่างๆ รวม 6 ชนิด ดังนั้นรัฐบาลต้องหาวิธีที่เหมาะสมในการพิจารณาโครงการประกันรายได้เกษตรกรวงรอบต่อไป สำหรับปีงบประมาณ 2564 ว่าเราจะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการประกันราคาพืชผลการเกษตรอย่างไร ซึ่งตนสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปหารือกับกระทรวงการคลัง

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า  ขณะนี้เราโชคดีที่ราคายางพาราเริ่มดีขึ้น แต่ไม่ยั่งยืนมากนัก เพราะมีภัยพิบัติต่างๆเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ปลูกยางพารา ซึ่งตนได้เคยเตือนเรื่องนี้แล้วว่าทุกคนต้องระมัดระวังเรื่องการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยจำเป็นต้องมีกิจกรรมเสริม อาทิ การเลี้ยงสัตว์ในสวนยางพารา หากเกิดกรณีที่พืชชนิดนั้นราคาตก จะทำให้ยังมีรายได้จากสิ่งอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กรณีของเกษตรกรชาวสวนยางตอนนี้มี 1.8 ล้านราย ซึ่งโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพและลดความเสี่ยงเรื่องการขาดรายได้จากการปลูกยางพารา เพราะการทำสวนยางพาราในตอนนี้มีการจ้างแรงงานกรีดยางด้วย ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดสัดส่วนการดูแลเกษตรกรเจ้าของสวนยางและผู้กรีดยางด้วย ซึ่งรัฐบาลพยายามดูแลและช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างเป็นธรรม  

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า  ส่วนกรณีของชาวนาทั่วประเทศมีประมาณ 4.6 ล้านครัวเรือน รัฐบาลได้อนุมัติการช่วยเหลือชาวนาไปแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ 

1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบที่ 1 วงเงิน 18,096 ล้านบาท  
2.มาตรการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาในช่วงเก็บเกี่ยว 5,105.26 ล้านบาท  
3.การสนับสนุนค่าบริหารจัดการพัฒนาคุณภาพผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563-2564 วงเงิน 28,046.82 ล้านบาท ตนจึงขอย้ำกับชาวนาว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกคน แต่อยู่ที่เราจะช่วยกันอย่างไรในอนาคตเพื่อไม่ให้มีการใช้จ่ายงบประมาณในเรื่องเหล่านี้มากเกินไปจนทำให้รัฐบาลมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการลดอัตราภาษี มีการให้ผ่อนชำระ หรืออะไรต่างๆก็ตาม ซึ่งทำให้รัฐบาลเก็บรายได้ลดลง ทั้งนี้อะไรลดได้ก็ลดไป แต่ขอลดลงเป็นช่วงๆ 3 เดือน หรือ 6 เดือน แต่ให้ลดตลอดทั้งปีไม่ได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า  สิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ คือ เราจะต้องทำอย่างไรให้ธุรกิจที่ยังมีโอกาส มีสภาพที่ไม่ใช่เรื่องของการบริการท่องเที่ยวอย่างเดียวสามารถที่จะเดินต่อได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน ทางรายได้ มีเงินอยู่ในระบบหมุนเวียน  ทั้งนี้ สิ่งที่ตนได้รับแจ้งมา จากมาตรการของรัฐบาลคือเรื่องของโครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งได้รับความนิยม ตนจึงได้สั่งการว่าในเมื่อวงเงินเรายังเหลืออยู่ ให้ลองดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป จะปรับปรุงอะไรให้มากขึ้นได้หรือไม่ มีมาตรการอื่นเสริมหรือไม่ในตรงนี้

“ที่ผ่านมามันเป็นเรื่องของรัฐกับประชาชนช่วยกัน ต่อไปนี้อาจมีภาคเอกชนธุรกิจมาร่วมมือกันด้วยได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสถานประกอบการ หรือสายการบินต่างๆ ที่จะมาร่วมในโครงการเหล่านี้ ซึ่งรัฐบาลก็จะหามาตรการที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ได้มีการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพราะขณะนี้เราก็มั่นใจในระบบ สาธารณสุขที่ดูแลเรื่องสุขภาพเราทำได้ดี ถือว่าดีมากแต่เราก็ประมาทไม่ได้ อย่าลืมเรายังประมาทไม่ได้”นายกฯ กล่าว
 

ครม.เคาะงบ 6.1 หมื่นล้านประกันรายได้ชาวสวนยาง-ชาวนา