- 01 ธ.ค. 2563
กรมราชทัณฑ์ แจงปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัยในเรือนจำหญิง
กรมราชทัณฑ์ ขอชี้แจงว่า ในปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ได้วางแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการผ้าอนามัยสำหรับผู้ต้องขังหญิง ซึ่งได้มีการส่งเสริมการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมาตรฐาน และเป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.๒๕๖๐ ในส่วนที่ ๔ สุขอนามัยของผู้ต้องขัง ประกอบกับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการอนามัยและการสุขาภิบาล พ.ศ.๒๕๖๑ หมวดที่ ๒ สุขอนามัยของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกําหนดกรุงเทพ หรือ The Bangkok Rules)
ซึ่งกำหนดให้เรือนจำมีการสนับสนุนอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวให้แก่ผู้ต้องขังหญิงทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย เสื้อ ผ้าถุง ผ้าเช็ดตัว ยกทรง กางเกงใน ผ้าขนหนู สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผงซักฟอก และผ้าอนามัย อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของประเทศไทย คือ จำนวนผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีจำนวนผู้ต้องขัง 42,772 คน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากปี 2551 ซึ่งมีจำนวนเพียง 26,321 คน และจากสถิติปรากฏข้อมูลว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิง มากเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย หรือ หากเทียบกับประชากร 100,000 คน ถือว่าประเทศไทย มีอัตราส่วนผู้ต้องขังหญิงเป็นอันดับ 1 ของโลก (21 ธ.ค. 2560 Nation TV)
ในปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ มีผู้ต้องขังหญิงในการควบคุมดูแล จำนวน ๔๔,๓๒๘ คน แต่เป็นผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ในวัยที่มีประจำเดือน ซึ่งจะได้รับการแจกผ้าอนามัย จำนวนประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน โดยในแต่ละปีกรมราชทัณฑ์ได้รับงบประมาณเป็นค่าจัดซื้อผ้าอนามัยแจกผู้ต้องขังหญิง เฉลี่ยคนละ 120 แผ่นต่อปี หรือคนละ 10 แผ่นต่อเดือน และกรมราชทัณฑ์ยังได้ประสานงานเครือข่ายภาคสังคมในการสนับสนุนสวัสดิการและสงเคราะห์ผู้ต้องขังในส่วนนี้เพิ่มเติม ทั้งนี้ หากเกิดกรณีผ้าอนามัยที่แจกเพื่อสวัสดิการไม่เพียงพอ หรือไม่เป็นไป ตามรสนิยมของแต่ละบุคคล เรือนจำได้มีบริการร้านค้าสงเคราะห์เพื่อสวัสดิการผู้ต้องขัง เพื่อเป็นทางเลือกในการซื้อผ้าอนามัยส่วนตัวตามความพึงพอใจของแต่ละบุคคล โดยผ้าอนามัยที่เป็นสวัสดิการผู้ต้องขังหญิง เป็นสินค้าที่ถูกควบคุมคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญมีการติดตามประเมินการเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐานซึ่งเป็นการดำเนินการโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ และมีระบบการควบคุมมาตรฐาน การดำเนินงาน โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดการปฏิบัติราชการของเรือนจำ ในการดำเนินการตามมาตรฐานเรือนจำ 10 ด้าน ด้านที่ 9 มาตรฐานด้านการให้บริการผู้ต้องขัง การอนามัยเรือนจำ (ข้อ 63-70)
จากการตรวจสอบข้อมูลการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำต่างๆ ไม่พบว่ามีข้อเท็จจริงในเรื่องการลักขโมยผ้าอนามัยกันในเรือนจำแต่อย่างใด ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้กำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้ต้องขัง มีการปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัย ซึ่งหากมีการลักขโมยหรือทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นในเรือนจำก็จะมีการดำเนินการทางวินัยกับผู้ต้องขัง และบทลงโทษตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2560
สำหรับกรณี กลุ่มนิสิตคณะผู้จัดทำโครงการ The Women in that day project ได้เผยแพร่เนื้อหา “ปัญหาผ้าอนามัยในเรือนจำ” ผ่านช่องทาง Facebook Twitter และ Instagram ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ ทางกลุ่มนิสิตได้รับแจ้งจากองค์กรที่เกี่ยวข้องว่าข้อมูลในเนื้อหาดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อน และมีการใช้ภาษาที่อาจสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ต้องขังหญิง รวมไปถึงภาพลักษณ์ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ทางกลุ่มนิสิตฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาและความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จึงขอแสดงความเสียใจและขอโทษในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอน้อมรับความผิดพลาดดังกล่าวด้วยการลบเนื้อหา “ปัญหาผ้าอนามัยในเรือนจำ” ออกจากทุกช่องทางที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว
กรมราชทัณฑ์ขอเรียนเพิ่มเติมว่า แม้กรมราชทัณฑ์จะได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายของผู้ต้องขังแต่ละคนต่อปีค่อนข้างจำกัด อันส่งผลต่อค่าจัดซื้อผ้าอนามัยแจกผู้ต้องขังหญิงด้วยนั้น แต่กรมราชทัณฑ์ยังคงยึดมั่นปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลได้รับการปฏิบัติอย่างมีมาตรฐาน และพร้อมที่จะดำเนินการแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาให้ได้มาตรฐานต่อไป