- 24 ม.ค. 2564
ราชทัณฑ์ สานต่อโครงการพระราชทาน โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง พร้อมตั้งศูนย์ติดตามช่วยเหลือผู้พ้นโทษ
โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” เป็นโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยให้แก่ผู้ต้องขังที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ อันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า ผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษจากเรือนจำและทัณฑสถานออกไปนั้น อาจจะได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติด เชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือ โควิด- ๑๙ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตของผู้พ้นโทษ จึงได้พระราชทานโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ เพื่อใช้เป็นหลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ในการฝึกอบรมผู้ต้องขัง อันจะเป็นพื้นฐานในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวภายหลังพ้นโทษ
กรมราชทัณฑ์ จึงได้เริ่มดำเนินโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ขึ้น เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๓ ให้เป็นโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ด้วยการสร้างต้นแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่ เพื่อให้ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเอง รวมถึงช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้ โดยมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนองค์ความคิด หรือ Mindset ที่จะช่วยพัฒนาทักษะด้านความคิด ทัศนคติ และร่างกายของผู้ต้องขัง ให้มีวินัย ความรัก ความสามัคคี และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี
การฝึกอบรมของโครงการฯ ดังกล่าว จะดำเนินการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เป็นระยะเวลา ๑๔ วัน ด้วยการน้อมนำ สืบสาน และต่อยอดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นการประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา จากการถ่ายทอดของวิทยากร “ครูพาทำ” และผู้เชี่ยวชาญในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งจะมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ลงมือปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริง เพื่อให้เห็นผล เป็นรูปธรรม โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯ ได้มีทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ที่เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอบรมและกำลังเข้ารับการฝึกอบรม แบ่งเป็น ๗ รุ่น รวมทั้งสิ้น ๑๐๗,๘๓๐ คน (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๔)
โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังกรมราชทัณฑ์ นอกจากจะดำเนินการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา ๑๔ วันแล้ว กรมราชทัณฑ์ ยังมีการติดตามผลการดำเนินโครงการ ผ่านศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำต้นแบบประจำภาค หรือ CARE Model ที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคกลาง ศูนย์ CARE เรือนจำกลางสมุทรปราการ, ภาคเหนือ ศูนย์ CARE เรือนจำกลางเชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ CARE เรือนจำกลางนครราชสีมา และภาคใต้ศูนย์ CARE เรือนจำกลางสงขลา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดตามและให้ความช่วยเหลือผู้พ้นโทษ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พ้นโทษที่ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ด้วยการจัดทำระบบบันทึกข้อมูล เพื่อประมวลผลการติดตามผู้พ้นโทษที่ต้องการรับความช่วยเหลือ และผู้พ้นโทษที่นำความรู้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้ประโยชน์ภายหลังพ้นโทษ เพื่อต่อยอดในการนำบุคคลดังกล่าวมาเป็น บุคคลต้นแบบ และร่วมเป็นวิทยากรจิตอาสาถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดการใช้ชีวิตพอเพียงภายหลังพ้นโทษ โดยประสานการดำเนินงานผ่านศูนย์ CARE ประจำเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ร่วมกับ จิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ ซึ่งจากรายงานของการประชุมศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำต้นแบบประจำภาค (CARE Model) ร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.พระราชทาน) พบว่า ในระหว่างวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๔ สามารถติดตามผู้ที่ผ่านการอบรม จำนวน ๓,๖๐๓ คน มีผู้พ้นโทษที่ได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปประกอบอาชีพแล้ว จำนวน ๔๗๐ คน ( ข้อมูล ณ วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๔)
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานอาหารมื้อกลางวัน รวมทั้งเสื้อพระราชทานโคกหนองนาฯ ตลอดจนสมุดไดอารี่พระราชทาน และชุดเครื่องเขียน เพื่อสนับสนุนให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังที่เข้ารับการฝึกอบรมในโครงการดังกล่าว ซึ่งกรมราชทัณฑ์และผู้ต้องราชทัณฑ์ทุกคนรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พร้อมที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป