- 25 ม.ค. 2564
หลังที่ทั่วโลกเริ่มได้คิดค้นวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 กันอย่างได้ประสิทธิภาพแล้ว ซึ่งมีผู้คนไม่น้อยที่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว และหนึ่งในนั้นคือ ดร.ศิริรักษ์ ช้างรบ นักวิจัยหลังปริญญาเอก University of Chicago วิจัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่และระบบภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นสาวไทยในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับวัคซีนดังกล่าว และได้มาแชร์ประสบการณ์โดยตรงหลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2
หลังที่ทั่วโลกเริ่มได้คิดค้นวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 กันอย่างได้ประสิทธิภาพแล้ว ซึ่งมีผู้คนไม่น้อยที่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว และหนึ่งในนั้นคือ ดร.ศิริรักษ์ ช้างรบ นักวิจัยหลังปริญญาเอก University of Chicago วิจัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่และระบบภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นสาวไทยในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับวัคซีนดังกล่าว และได้มาแชร์ประสบการณ์โดยตรงหลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2
โดยเธอเล่าว่า "วัคซีนมีซีน VaccineMeSeen Episode 5 ตอน เราฉีดวัคซีนโควิดเข็มสองครบจบแล้ว!! พร้อมรวบรวมคำถามทั่วไปที่หลายคนสงสัย?!? 2nd dose of COVID-19 vaccine checked! หลังจากที่เข็มแรกผ่านไปเมื่อ 20 วันที่แล้ว วันนี้ (23 มกราคม 2564)เรารับวัคซีน mRNA เข็มที่ 2 ของ Pfizer BioNTech เรียบร้อยโรงเรียนวัคซีนแล้วค่ะ!
ก็ถือว่าเป็นวันดีดี วันที่ชิคาโก้อากาศหนาว -14 องศา ฤกษ์งาม ยามเหมาะสมกับอุณหภูมิที่คุณวัคซีน mRNA เขาชอบ วันนี้(23 มกราคม 2564)ในหน่วยฉีดวัคซีน เริ่มมีผู้สูงอายุทยอยมารับวัคซีนเข็มแรกกัน ระหว่างที่นั่งรอสังเกตอาการหลังฉีด ก็มีคุณป้าอายุ 65+ กำลังนั่งอ่านเอกสารวัคซีน แล้วถามพยาบาลว่า “ทำไมในเอกสารบอกว่าวัคซีนตัวนี้ถึงเขียนว่าเป็น Emergency Use ละคะ มันหมายถึงอะไรคะ แล้วจะอันตรายมั้ย” “จะมีอาการข้างเคียงอะไรมั้ย คุณพยาบาลได้ฉีดวัคซีนรึยัง” “ฉีดแล้วจะดีกว่าไม่ฉีดใช่มั้ย” “ถ้ารับวัคซีนแล้วไปตรวจ จะเป็น Positive มั้ย” ฯลฯ
มาค่ะ หลังจากที่เรารับบทนางแอบฟังชาวบ้าน ภายใน 15 นาที ก็สามารถรวบรวมคำถามจากคุณลุงคุณป้าก็จะประมาณนี้ค่ะ การขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉิน และความปลอดภัย? วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉิน (Emergency Use Autherization) ไม่ได้นึกจะขอขึ้นก็ขึ้นกันได้ง่ายๆนะคะ หลักๆเลยคือทางผู้ผลิตจะต้องมีการรายงานผล 1. ประสิทธิภาพ 2. ความปลอดภัยของวัคซีน ที่ได้เก็บรวบรวมในช่วงระยะทดลองวัคซีน
แล้วหลังรับวัคซีนแล้ว 2 เดือน ผู้รับวัคซีนปลอดภัยไม่มีผลร้ายแรงอันเกิดมาจากการได้รับวัคซีน จึงจะขอยื่นต่อ อย. ขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉินได้ และจะขึ้นทะเบียนอย่างสมบูรณ์เต็มศักดิ์ศรี โอเคนัมเบอร์วัน นั่นก็ต่อเมื่อทางผู้ผลิตได้ส่งผลความปลอดภัยของวัคซีนว่ามีปลอดภัยหลังรับวัคซีนไปแล้ว 6 เดือน เพราะฉะนั้นช่องว่างระหว่างรอผล ก็สามารถฉีดไปก่อนได้ เพื่อให้สร้าง herd immunity ให้เร็วที่สุด **สำคัญคือต้องไม่ได้ข้ามขั้นตอนใดๆ ในระยะการทดลอง**
และขั้นตอนกระบวนการกว่าจะได้มาซึ่งความปลอดภัย ก็จะต้องผ่านด่านหลายอย่างค่ะ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่ทดลองในสัตว์ ทดลองในคนตั้งแต่หลักสิบ และเพิ่มปริมาณคนมากขึ้นในระยะที่สาม (Phase III) เป็นหมื่นๆคน (Pfizer ~44,000 คน ส่วน Moderna ~30,000 คน) ซึ่งเป็นการกระจายผลทดลองในวงกว้าง และหลากหลาย เพื่อมั่นใจได้ว่าสิ่งที่คุณได้รับเข้าไปในแขนของคุณจะเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันในทิศทางเดียวกัน นั้นคือ การสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
อาการข้างเคียง
ทั่วไปที่พบในอาสาสมัครระยะทดลองคือ “มีอาการเหมือนไข้หวัด ที่ไม่ได้ติดไข้หวัด” อาการจะอยู่ในช่วง ปวดเมื่อย ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น ปวดข้อ มีไข้ตัวร้อน และไม่ต้องตกใจ นั่นเป็นสัญญาณที่ดีว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนแล้ว จากผลทดลองของอาสาสมัครทั้ง Pfizer และ Moderna พบว่า 50% มีการข้างเคียงเบื้องต้น(ตามด้านบน) หลังรับเข็มแรก และ กว่า 70-80% มีอาการหลังรับเข็มสอง แล้วก็มีประมาณ 10-20% ที่ต้องลาป่วย ไปทำงานไม่ได้ (อาการหนักกว่าอาการเบื้องต้นนั่นเอง)
และหลังจากวัคซีนได้เริ่มให้ในวงกว้าง ก็จะต้องมีการตามเก็บผลประสิทธิภาพ และอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากวัคซีนได้อีกมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เท่าที่ถามเพื่อนที่ได้รับเข็มสองไปแล้ว ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าอาการหนักกว่าครั้งแรก ปวดเมื่อยปวดหัว ตัวร้อน บางคนมีต่อมน้ำเหลืองใต้จั๊กแร้โต (จุดที่ใกล้เคียงกับบริเวณที่ฉีด) มีเพื่อนคนนึงบอก ‘โอ้ย ฉันปวดไปหมดทั้งร่างกาย’ ส่วนอีกคนมีบอก ‘ฉันมีแรงแค่กอดแฟนได้เท่านั้น’ #ร้าย แต่อาการเหล่านี้หายไปภายใน 48 ชั่วโมง ! แล้วกลับมาดี๊ด๊าได้เหมือนเดิม
การใช้ยาในช่วงขณะรับวัคซีน
หากคุณมีโรคประจำตัวที่ต้องทานยาเป็นประจำ ต้องปรึกษาแพทย์ ก่อนได้รับวัคซีนค่ะ ยกตัวอย่าง คนที่รู้จัก มียาที่ต้องกินทุกวันเนื่องจากมีโรคประจำตัวทางพันธุกรรม เค้าต้องปรึกษาแพทย์ที่รักษาก่อนว่ายาที่กินจะไม่ไปตีกับวัคซีน ถึงจะมารับวัคซีนได้อย่างสบายใจ อยู่ในเรดาห์ของแพทย์ประจำตัว
กลัวจะเป็นไข้หนัก กินยาพารา ยาแก้ปวดดักไว้ก่อนฉีดวัคซีนได้มั้ย ?
ไม่ควรค่ะ เพราะการกินยาแก้ปวดลดไข้ ‘ก่อนฉีด’ จะส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนลดลง
แต่กรณีถ้ามีอาการไข้หรือปวดหลังรับวัคซีน สามารถกินยาแก้ปวดลดไข้ได้ค่ะ
ถ้าฉีดวัคซีนแล้วไปตรวจเชื้อจะเจอว่าผลบวกมั้ย?
ไม่เจอค่ะ เพราะวัคซีนชนิดนี้เป็นเพียงสารพันธุกรรม ไม่ใช่เชื้อจริง ไม่มีคุณสมบัติในการติดเข้าสู่เซลล์เยื่อบุเลย ให้มั่นใจได้
ถ้ามาฉีดเข็มสองช้ามีผลอะไรมั้ย?
เป็นไปได้ก็ควรได้มาฉีดเข็มสองตามระยะเวลาที่กำหนดค่ะ วัคซีนส่วนใหญ่จะมีกฎเกณฑ์ของเค้าว่าช้าได้ไม่เกินกี่วัน ถ้าเกินกี่วันจะต้องเริ่มนับเข็มหนึ่งใหม่ สำหรับวัคซีนโควิดตอนนี้ยังไม่มีผลตรงส่วนนั้น จนกว่ากรมควมคุมโรค CDC จะออกมาประกาศอย่างเป็นทางการอีกที ซิสทั้งหลายอย่านิ่งนอนใจว่า ได้อยู่ รับเข็มแรกไปแล้ว ไม่เป็นไรหรอก ‘ได้อยู่’ แปลว่า ‘ไม่ได้’
ในช่วงระยะทดลองวัคซีน ของทั้ง Pfizer และ Moderna ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ได้รับวัคซีนแล้วเอาอยู่ในเข็มเดียว การได้รับประสิทธิภาพสูงสุดคือต้องได้รับเข็มที่สองแล้วเท่านั้น Pfizer เคลมว่าวัคซีนจะป้องกันได้สูงสุดก็ต่อเมื่อรับเข็มที่สองไปแล้ว 7 วัน (ระยะเวลาระหว่างเข็มแรก กับเข็มสองเว้น 21 วัน) ทางฝั่ง Moderna อยู่ที่ 14 วัน (ระยะเวลาระหว่างเข็มแรก กับเข็มสองเว้น 28 วัน) ถ้าคนไหนที่ยังไม่ชัวร์ว่าจะมารับเข็มสองได้ตามเวลาที่กำหนด ก็อย่าเพิ่งฉีดเข็มแรกนะคะซิส (ตอนนี้มีของ Johnson and Johnson ที่กำลังเร่งเก็บผลจากวัคซีนประเภท’เข็มเดียวเอาอยู่’ อาจจะได้ข่าวดีในเร็วๆนี้)
ถ้าเคยติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ ยังรับวัคซีนได้มั้ย?
ได้ค่ะ เพราะตอนนี้ยังบอกไม่ได้เลยว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่การได้รับวัคซีนคือการยืนยันว่าคุณมีภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ มีผลการทดลองยืนยันในกลุ่มคนกลุ่มใหญ่แล้ว แต่เดี๋ยวก่อน! เราไม่ควรรับวัคซีนในขณะที่เรากำลังติดเชื้อนะคะ ควรจะรับหลังจากที่หาย กลับมาใช้ชีวิตปกติทั่วไปแล้วเท่านั้น อย่าเปรี้ยวเกินไป
ถ้าเลือกได้ว่าจะฉีดเลยหรือรอก่อน จะเลือกอะไรดี?
คำถามนี้เราว่าแล้วแต่บุคคล สถานการณ์และสถานที่ เราต้องประเมินว่าตัวเองว่าเรามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่จะได้รับเชื้อ หรือถ้าเราได้รับเชื้อแล้วเราจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และถ้าถามเรา ตอบแบบไม่ลังเลเลยว่า ‘เรารับแน่นอน’ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และจำนวนเคสคนติดเชื้อ คนเสียชีวิตในแต่ละวัน มันได้ตอบแล้วว่า เราควรมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ ที่เราไม่อาจะรู้เลยว่าวันดีคืนร้ายเราจะติดเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วถ้าเราติด เราก็แพร่เชื้อให้คนอื่นได้ต่อๆกันไป แพร่ไปให้คนอื่นแล้วคนอื่นอาจจะเป็นหนักเสียชีวิตได้ เป็นตราบาปไปตลอดชีวิตเราอีก ข้อมูลและผลการทดลองที่มีน่าเชื่อถือได้ว่าเราจะปลอดภัยและมีการสร้างภูมิคุ้มกันแน่นอน แต่สิ่งที่เราไม่รู้เลยคือจะยาวนานแค่ไหน ต้องฉีดทุกปีมั้ย ตรงนี้ก็ยังต้องรอดูต่อไปเนอะ
จบช่วงถาม-ตอบ ลุงป้ากันไป กลับมาที่ขั้นตอนการรับเข็มสองสำหรับวันนี้
ก็เหมือนเดิมค่ะ หลังจากได้ทำการนัดหมายผ่านทาง MyChart ตั้งแต่รับเข็มแรกไปแล้ว (เราเลือกวันศุกร์ช่วงเย็นเพราะจะได้มีเวลารับมือกับความเดี้ยงช่วงเสาร์อาทิตย์) วันนี้ก็ต้องไปยืนยันตัวตรงจุด check-in แล้วก็เข้าห้องฉีด จะมีพยาบาลถามว่าหลังรับเข็มแรกเป็นยังไงบ้าง ? แล้วก็ถามคำถามเดิมเหมือนตอนที่รับเข็มแรก คร่าวๆคือ เคยมีประวัติการแพ้อะไรรุนแรงมั้ย? ก่อนหน้านี้ 90 วันเคยตรวจเจอเชื้อโควิดมั้ย? พี่พยาบาลก็ถามว่าอยากให้ฉีดข้างไหน เราก็ขอฉีดข้างเดิม จิ้มเสร็จเขาก็บอกว่า ‘ยูรับเข็มที่สองแล้วนะ ยินดีด้วย’ พร้อมแปะสติ๊กเกอร์ “I got my COVID-19 vaccine!” บนบัตรทำงานของเรา เป็นสัญลักษณ์บอกว่าจีบได้ ฉีดวัคซีนแล้ว #หยอกๆ เราก็ “เย้” พี่พยาบาลก็ “เย้ ”
เพิ่มเติมตรงนี้นะคะ ตั้งแต่รับเข็มแรก เราก็ได้รับ Vaccination Record Card (การ์ดฉีดวัคซีน) ที่มีชื่อ วันเดือนปีเกิด วันที่วัคซีนเข็มแรก/เข็มสอง ยี่ห้อวัคซีนที่ได้ และล๊อตที่ผลิต มาเก็บไว้กับตัวค่ะ จะได้ช่วยจำว่าเราเคยได้รับวัคซีนโควิดเมื่อไหร่ และยี่ห้ออะไร เราว่าตรงนี้สำคัญมากๆ ในอนาคตอาจจะต้องใช้การ์ดนี้เวลาเดินทาง รับวัคซีนเสร็จ เราก็ยังกลับมาทำแลบต่อ อาการสองชั่วโมงแรกไม่มีอะไรเลย ตอนนี้ผ่านไป 8 ชั่วโมงแล้ว เรารู้สึกตัวร้อนนิดๆ และปวดบริเวณที่ฉีด ไม่ต่างกับเข็มแรก รอดูอาการในเช้าวันถัดไป เพื่อนทุกคนบอกว่า หนักกว่าเข็มแรกแน่นอน"