- 25 ม.ค. 2564
อ.นิติศาสตร์เปิดข้อกฎหมายยันยายบุรีรัมย์ ไม่ต้องคืนเบี้ยคนชรา 8.4 หมื่น อบต.บกพร่องเอง
จากกรณีกรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือแจ้งเรียกเก็บเบี้ยผู้สูงอายุคืนย้อนหลัง 10 ปี จำนวน 84,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยจาก นางบวน โล่ห์สุวรรณ คุณยายวัย 89 ปี ชาวบ้านในจ.บุรีรัมย์ เนื่องจากได้รับบำนาญกรณีที่ลูกชาย เป็นทหารสังกัด มทบ.21 นครราชสีมา เสียชีวิตจากเหตุการณ์คลังแสงระเบิดที่โคราช เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 ทางต้นสังกัดจึงได้พิจารณาจ่ายเงินบำนาญพิเศษ ให้กับพ่อ-แม่ คนละ 5,000 บาทต่อเดือน แต่หลังจากสามีเสียชีวิตก็เหลือยายคนเดียวที่ได้รับเงินบำนาญทายาทเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งทางคุณยายและลูกสาวได้ออกมาร้องขอความช่วยเหลือ เพราะไม่รู้จะหาจากไหนไปคืน
ล่าสุดวันที่ 25 ม.ค. นายอุดม งามเมืองสกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โพสต์ข้อความในกลุ่ม กฎหมายเรื่องใกล้ตัว ถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวว่า อบต.จ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุไม่ถูกต้อง (นานรวม 10 ปี เพราะจ่ายซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ กรณีลูกชายคุณยายซึ่งเป็นทหารเสียชีวิต) กรมบัญชีกลาง และอบต.จะเรียกเงินเบี้ยคนชราคืนจากคุณยายปัจจุบันอายุ 89 ปี โดยจะเรียกเงินคืนย้อนหลัง รวมเป็นเงิน 84,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ได้หรือไม่
โดยมีความเห็นว่า กรณีนี้เป็นกรณี “ลาภมิควรได้” ซึ่งหน่วยงานทางปกครอง คืออบต. จะต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องในทางแพ่ง (ไม่ใช่คดีปกครอง เที่ยบเคียงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 222/2560)
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ป.พ.พ. มาตรา 412 ดังนั้นหากคุณยายได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุไว้โดยสุจริต (หากฟังข้อเท็จจริงได้ว่าคุณยายไม่ทราบข้อกฎหมาย/ปิดบังข้อเท็จจริงที่ตนใช้สิทธิซ้ำซ้อน) และหากคุณยายรับเงินไว้โดยสุจริตและได้นำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่จะถูกเรียกคืน คุณยายจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าว ตามป.พ.พ. มาตรา 412 (เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559)
กรณีนี้ถือเป็นความบกพร่องในการตรวจสอบตรวจทาน เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่ จึงต้องไปไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ผูปฏิบัติงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อต่อไป
ป.พ.พ.มาตรา 412 ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559 จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามกฎหมาย แต่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวให้จำเลยไปโดยผิดหลง จึงเป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และทำให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นลาภมิควรได้ หาใช่เป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิติดตามเอาคืนได้อย่างเจ้าของทรัพย์สินไม่ และเมื่อได้ความว่าจำเลยได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญไว้โดยสุจริตและนำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่โจทก์จะเรียกคืน จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412