- 03 ก.ค. 2564
โผล่อีก ต้นลำไยด่าง ใบสีทองสลับเขียว ลำต้นสมบูรณ์ พบ 1 ใน 129 ต้น
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราสุดฮือฮา สำหรับต้นลำไยใบด่าง ใบออกเป็นสีทอง สลับสีเขียว ต้นสมบูรณ์ติดช่อออกผล เพียง 1 ต้นในจำนวน 129 ต้น ที่ ฟาร์มสเตย์ โต้งฮิมวาง ต.ทุ่งรวงทอง อ. แม่วาง จ.เชียงใหม่ หลังเจ้าของสวนทำลำไยนอกฤดู เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเก็บกินช่วงฤดูท่องเที่ยว ตอนแรกคิดว่าใบลำไยชุดดังกล่าวไม่สมบูรณ์ จะร่วงไปเองจึงปล่อยไว้นานกว่า 2 เดือน ใบด่างกลับลุกลามเกือบทั่วต้น และลำไยช่อเป็นใบด่างกลับแทงช่อดอกออกมา และสมบูรณ์ เหมือนลำไยต้นอื่น
นายเกษม ดวงวิโรจน์ เกษตรกรเจ้าของสวนลำไย ที่ปรับปรุงสวนลำไยเป็นฟาร์มสเตย์โต้งฮิมวาง เปิดเผยว่า ต้นลำไยที่ตนเองปลูกไว้อายุ 6 ปี ในพื้นที่จำนวน 4 ไร่ จากที่ดินทั้งหมดที่ทำฟาร์มสเตย์ รวมจำนวนประมาณ 11 ไร่ หลังจากที่ได้ให้ปุ๋ยบำรุงช่อ เพราะต้องการทำลำไย ลำไยออกนอกฤดู จะให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวกินได้ในช่วงฤดูหนาวปีนี้พอดี ซึ่งเตรียมไว้ให้นักท่องเที่ยวมาที่แวะมาท่องเที่ยว มาเที่ยวที่ฟาร์มสเตย์โต้งฮิมวาง สามารถมาเก็บลำไยรับประทานได้ แต่กลับพบว่าลำไย ที่ทำนอกฤดูหนึ่งต้น กลับมีใบด่างแปลกตาจากต้นอื่นที่ใบเป็นสีเดียว
ซึ่งต้นลำไยที่เป็นด่างที่พบมีเพียง 1 ต้นเท่านั้นที่อยู่กลางฟาร์ม อยู่ติดกับแปลงนาที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จไปแล้ว ซึ่งพบใบลำไยเป็นด่าง วันแรกช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ตอนแรกๆก็ไม่สนใจ เพราะพบว่า เป็นด่างเพียง เพียง 3-4 ช่อ พอทิ้งไว้หลายวันจึงตัดสินใจใส่ปุ๋ย บำรุงต้นเพื่อทำลำไยนอกฤดู ต่อมาช่วงต้นเดือนมิถุนายน ลำไยต้นดังกล่าวกลับแทงช่อดอกเหมือนลำไยต้นอื่นตามปกติ ผ่านไปนานนับเดือน ใบด่างลำไยกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากถึง 20-30 ช่อ หรือประมาณ 30% ของต้นลำไยทั้งหมด ก็เริ่มตกใจ เนื่องจากใบลำไยและช่อดอกสมบูรณ์ ตามปกติ และเริ่มติดเม็ด เหมือนลำไยต้นอื่น
ก่อนหน้านี้ ตนได้ให้ปุ๋ยบำรุงช่อลำไยทั้งหมดในโซนเดียวกัน จำนวน 129 ต้น ประมาณปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาได้ไปบอกเจ้าของร้านขายปุ๋ยว่า ให้ปุ๋ยบำรุง ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ ทางร้านก็บอกว่าให้ปุ๋ยถูกต้องแล้ว และขอนำตัวอย่างใบลำไยที่เป็นด่าง นำไปปรึกษานักวิจัยของทางร้านเพื่อจะหาสาเหตุการเกิดใบสีด่าง และทางฟาร์มสเตย์โต้งฮิมวาง ยังได้ส่งภาพและรายละเอียดดังกล่าวให้นักวิชาการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำการวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง นอกจากนี้ตนจะสังเกตผลลำไย ที่กำลังติดผลว่าพอโตมาจะมีลักษณะอย่างไร ซึ่งหลังจากนี้ตนจะทดลองตอนกิ่ง ลำไยที่มีใบด่างเพื่อนำไปทดลองปลูกในดินเพื่อดูว่าใบลำไยจะเป็นสีด่างเหมือนต้นแม่หรือไม่