- 11 ก.ค. 2564
รอง ผบช.น. เผยภาพรวมการปฏิบัติจุดตรวจเคอร์ฟิว ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 ก.ค.64 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น./โฆษกบช.น. เปิดเผยถึงการปฏิบัติภารกิจตรวจโควิดตั้งแต่เวลา 21.00 -04.00 น. เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยได้มีการตั้งทั้งหมด 88 จุด เพื่อให้ตรวจสอบความพร้อมทำความเข้าใจให้กับประชาชนว่า หลังจากเวลา 24.00 น. จะมีการบังคับใช้กฎหมายพ.ร.ก.ประกาศฉบับ 27
สำหรับบุคคลที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ 1.บุคลากรสาธารณสุข แพทย์พยาบาล 2.บุคคลเกี่ยวข้องการขนส่งเพื่อประโยชน์ อาทิ ยา เครื่องมือแพทย์ สินค้าเกษตร อุปโภค 3.เจ้าหน้าที่ขนส่งขนย้ายประชาชน อาทิ เจ้าหน้าที่รถไฟฟ้า เจ้าหน้าการรถไฟ นำส่งคนเดินทางไปต่างประเทศ นำส่งคนเจ็บไปรพ. 4.ผู้ให้บริการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน กู้ภัย อาสาสมัคร คนนำ คนป่วย ไปส่งบริเวณสถานพยาบาล 5.เจ้าหน้าที่ไฟฟ้า ประปา บุคคลปฏิบัติหน้าที่เป็นเวรยาม โดยต้องมีบัตรแสดงตนบัตรพนักงาน บัตรประชาชน หนังสือยืนยันจากทางต้นสังกัดที่เดินทางตามช่วงเวลาประกาศห้ามเดินทางดังกล่าว
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า ส่วนบุคคลกลุ่มที่ 6 คือมีความจำเป็นนอกจาก 1-5 ขออนุญาตเป็นการเฉพาะรายจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ส่วนพื้นที่กทม. ขออนุญาตจากผอ.เขต ผกก. 88 สน. ผ่านจุดตรวจโควิด ยกตัวอย่างเช่น กรณีแม่ค้าขายนำของไปส่งตลาด แจ้งนายอำเภอ หรือปลายทางที่ผู้กำกับการในท้องที่นั้น ส่วนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันตามห้วงเวลาที่ได้ให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชนให้ทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้มีการนำเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด โดยมีระบบ TPCC (Thai police checkpoint control) มาใช้เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โปร่งใสและผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
รอง ผบช.น. กล่าวด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวเน้นสร้างการรับรู้ว่าในเวลาหลัง 24.00 น. ต้องปฏิบัติตนอย่างไรตามกฎหมาย ผลการดำเนินการเมื่อคืนมี่ผ่านมาเป็นไปได้ด้วยดี ส่วนคืนนี้จะบังคับเต็มที่เลยหรือไม่ เบื้องต้นให้ดูเหตุผลตามความจำเป็น มีเจตนาฝ่าฝืนหรือไม่ อาทิ ดื่มสุรากลับมาอาจจะถูกดำเนินคดี ส่วนกำลังของเจ้าหน้าที่มีเพียงพอหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำเต็มที่ โดยอัตราโทษความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ทั้งนี้ ขอฝากแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนว่า ทางรัฐบาลมีมาตรการต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่สร้างความเข้าใจตามกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ต่อไป
เมื่อถามถึงจุดตรวจรอบกทม. พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า เบื้องต้นได้มีการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งจุดตรวจเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างอีก 6 จุด ได้แก่ ถนนวิภาวดีรังสิต หน้าสถานีรถไฟดอนเมือง, ถนนสุวินทวงศ์ แยกมหานคร, ถนนบางนาตราด ปั๊ม บางจาก กม.ที่ 4.5, ถนนพระรามสอง ปั๊ม ปตท.ขาออก, ถนนเพชรเกษม หน้าสำนักงานเขตหนองแขม และ ถนนบรมราชชนนี แยกบรมตัดสาย 3 โดยปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งแต่ละสถานีตำรวจ จัดให้มีชุดเคลื่อนที่เร็ว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้ กับผู้ประกอบการ กิจการ และกิจกรรมต่างๆ.
โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีมาตรการปฏิบัติตามประกาศข้อกำหนด ดังนี้
1.ตั้งจุดตรวจทุก สน.รวม 88 จุดตรวจ ในช่วงเวลา 21.00 - 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น กระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งเป็น 3 ผลัด ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 8 นายต่อ 1 ผลัด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร และฝ่ายปกครองในพื้นที่นั้นๆ มีนายตำรวจระดับสารวัตรเป็นหัวหน้าจุดตรวจ ซึ่งจะเริ่มตั้งในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 21.00 น. เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
2.จัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว เพิ่มความเข้มในการตรวจตรา ห้ามออกนอกเคหะสถาน เวลา 21.00 - 04:00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยเน้นการตรวจตราจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนออกมาในเวลาดังกล่าว ส่วนการเปิดให้บริการของห้างร้าน ซูเปอร์มาเก็ต สวนสาธารณะ หรือสถานที่ต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนด คือ เปิดได้ถึง 20.00 น. ยกเว้นขนส่งสาธารณะที่เปิดได้ถึง 21.00 น.
ขอบคุณ
nationphoto