หมอไม่ทนร้องสถานทูตสหรัฐฯ ไม่เชื่อใจรัฐบาลปมจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส

หมอไม่ทนร้องสถานทูตสหรัฐฯ ไม่เชื่อใจรัฐบาลปมจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส กลัวไม่ถึงด่านหน้าจริงๆ วอนรัฐบาลสหรัฐฯรับทราบถึงความกังวลนี้และผลักดันให้มีความโปร่งใส

กลุ่มหมอไม่ทนพร้อมทีมงานและบุคลากรทางการแพทย์ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง อุปทูต ไมเคิล ฮีธ รักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกรณีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีความกังวลต่อวัคซีน Pfizer (ไฟเซอร์)​ 1.54 ล้านโดสที่ทางการสหรัฐได้จัดสรรบริจาคให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของไทย และหาแนวทางในการผลักดันให้เกิดความโปร่งใส เพื่อให้วัคซีนดังกล่าวถึงบุคลากรด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างแท้จริง

 

โปรโมชั่นลาซาด้า

 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 ก.ค. 2564 ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมตัวแทนจาก Nurses Connect, ภาคีบุคลากรสาธารณสุข และหมอไม่ทน เดินทางมายื่นหนังสือเปิดผนึกจากเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์​ถึงอุปทูต ไมเคิล ฮีธ รักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กรณีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีความกังวลต่อวัคซีน Pfizer (ไฟเซอร์)​ 1.54 ล้านโดสที่ทางการสหรัฐได้จัดสรรบริจาคให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของไทย และหาแนวทางในการผลักดันให้เกิดความโปร่งใส เพื่อให้วัคซีนดังกล่าวถึงบุคลากรด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างแท้จริง

 

ยื่นหนังสือตรวจสอบวัคซีนไฟเซอร์

 

ทั้งนี้ นพ.ณัฐ  ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ฟัง แปลเป็นภาษาไทย ใจความว่า พวกเราเป็นกลุ่มของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีความกังวลเป็นอย่างมากต่อความโปร่งใสของรัฐบาลในการจัดสรรวัคซีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีน Pfizer จำนวน 1.54 ล้านโดสที่ได้รับการบริจาคมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับคำแนะนำว่าควรให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น บุคลากรด่านหน้า 
  
แผนการจัดการวัคซีนที่ไม่โปร่งใสและการจัดการที่ด้อยประสิทธิภาพในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้เกิดการระบาดของโควิต -19 อย่างรุนแรงพวกเราบุคลากรด่านหน้าจำเป็นต้องรับภาระอันหนักหน่วงโดยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ปัจจุบัน มีบุคลากรด่านหน้าราว 800 คนที่ติดเชื้อไปแล้ว ทั้งที่หลายคนก็ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดส

 

ยื่นหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐฯปมจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์

 

พวกเราขอขอบคุณทางสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่งที่ได้บริจาควัคซีนจำนวน 1.54 ล้านโดสให้กับประเทศไทย แต่ทว่า พวกเราไม่มั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้ได้ตามกลุ่มเป้าหมายที่ทางสหรัฐอเมริกาได้คำนึงไว้
 

ในช่วงแรกกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวว่าวัคซีนที่ได้รับการบริจาคมาจะถูกฉีดเป็น booster dose สำหรับบุคลากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว โดยมีจำนวนผู้ที่จะได้รับวัคซีนในส่วนนี้ จำนวน 700,000 คน และจากนั้นจึงให้บุคคลกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุผู้มีโรคประจำตัว ผู้มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เป็นต้น 

จากนั้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ทางกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งตัวเลขว่าจำนวนวัคซีนที่ได้แบ่งไว้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์นั้นมีเพียง 500,000 โดส นอกจากนั้น ในเวลาที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์ได้ถูกโน้มน้าวให้ฉีด booster dose เป็นวัคซีน viral vector ไปก่อนเนื่องจากวัคซีน mRNA ยังไม่ถูกจัดสรรและไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่นอน ทำให้มีบุคลากรส่วนหนึ่งได้รับ booster dose เป็น viral vector ไปแล้ว

พวกเรามีความกังวลอย่างยิ่งว่า ความคลุมเครือและไม่แน่นอนในการจัดสรรวัคซีนของรัฐบาลนี้ จะเอื้อให้เกิดช่องว่าง ทำให้มีผู้ฉวยโอกาสได้รับวัคซีนซึ่งไม่ตรงกับเจตจำนงของการบริจาคของทางสหรัฐอเมริกา

 

ยื่นหนังสือถึงสหรัฐ ไม่ไว้ใจรัฐบาลไทยจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์

 

ดังนั้น พวกเราจึงขอเรียนให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ทราบถึงความกังวลของพวกเราผ่านทางหนังสือฉบับนี้ และหาแนวทางในการผลักดันให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรมอย่างที่สุดในการจัดสรรวัคซีนที่ได้รับการบริจาคมาของรัฐบาล เพื่อที่กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่สุด เช่น บุคลากรทางการแพทย์หรือบุคคลอันเปราะบางจะได้รับการให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และเพื่อให้วัคซีนเหล่านั้น ไม่ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนของกลุ่มคนที่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

จากนั้น ทางเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา​ ได้เป็นตัวแทนรับมอบจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว

นพ.ณัฐ  กล่าวว่า ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์มีความกังวลเป็นอย่างมากต่อความโปร่งใสของรัฐบาลไทยในการจัดสรรวัคซีน ซึ่งหลังจากที่มีข่าวลือออกมาในหลายประเด็นจนเกิดความกังขาว่า วัคซีนอาจถูกจัดสรรให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าเผชิญโรคก่อน จึงอยากให้ทางสถานทูตทราบถึงปัญหาความไม่โปร่งใสดังกล่าว นอกจากนี้ การจัดสรรวัคซีนก็ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา ว่าวัคซีนได้ถูกฉีดให้กับกลุ่มบุคคลใดบ้างเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนมีรายชื่อตกหล่นไป และเพื่อให้เกิดความชัดเจน

ด้าน น.ส.ปาณิสรา ปานมุนี ตัวแทนเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่อยากจะพูดคือบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีเครื่องมือที่จะใช้ในการป้องกันโรค ไม่สามารถปกป้องชีวิตตนเองจากอันตราย ไม่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และยังมีบุคลากรหลายคนที่ยังไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัย ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันโรค เช่น ชุดพีพีอี (PPE)​ เอง เปรียบเสมือนได้ว่ารัฐบาลกำลังส่งบุคลากรด่านหน้าหลายๆท่านไปตาย

 

โปรโมชั่นลาซาด้า