- 03 ส.ค. 2564
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชี้ ชุดตรวจโควิดราคาแพงเกินไป ควรมีการควบคุมราคาอย่างจริงจังไม่ให้เอาเปรียบประชาชน จี้รัฐควรแจกฟรีให้เหมือนประเทศอื่นเขาทำกัน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้เรียกว่าวิกฤตหนัก โดยในแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงเป็นหลักหมื่นราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มทะลุหลักร้อย ทำให้สถานที่การตรวจหาเชื้อไม่เพียงพอ จนหลายคนต้องซื้อ Rapid Antigen Test หรือ Antigen Test Kit มาตรวจกันเอง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุว่า "ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเลยว่า มีคนรอบตัวเรา คนในชุมชน ติดโควิดกันเยอะมาก หลายๆคนติดทั้งๆที่ระวังตัวกันเต็มที่แล้วและไม่รู้ตัวเลยว่าติดมาจากไหน แสดงว่าตัวเดลต้า นี่มันสามารถแพร่กระจายได้เร็วมาก สามารถติดต่อได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนมีอาการ ดังนั้นกว่าจะรู้ตัวคือมีอาการ ก็แพร่เชื้อให้คนอื่นไปแล้ว จากการพูดคุยกับคุณหมอหน้างาน และ ทีมงานชุมชนในกลุ่มเพื่อนชัชชาติ มีประเด็นที่สำคัญสามเรื่อง
- การติดกันภายในครอบครัวมีเป็นจำนวนมาก คือ หลายๆกรณีที่พบคือติดกันทั้งบ้าน ดังนั้นการป้องกันตัวในบ้านก็เป็นเรื่องจำเป็น คนที่ออกไปนอกบ้านต้องคิดไว้ก่อนว่ามีโอกาสติดโควิดมาโดยไม่รู้ตัว ถ้าเป็นไปได้ ใส่หน้ากากในบ้าน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ทำความสะอาดพื้นที่เสี่ยงในบ้านอย่างสม่ำเสมอ ห้ามประมาทแม้กับคนในครอบครัว
- การใช้ชุด Rapid Antigen Test Kit (ATK) ช่วยทำให้เรารู้ข้อมูลของผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น และ เป็นประโยชน์มาก แต่พบว่าราคาชุดตรวจในประเทศไทยยังแพงกว่าราคาที่ขายในต่างประเทศพอสมควร ดังนั้นควรมีการควบคุมราคาอย่างจริงจังไม่ให้เอาเปรียบประชาชนในยามยากลำบาก และ รัฐควรแจกชุด ATK ฟรีให้กับประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เหมือนรัฐบาลในหลายๆประเทศทำอยู่
- การกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่พบคือ มีหลายรายที่ลงทะเบียนแล้ว ยังไม่มีการติดต่อ ประเมินอาการ และ ส่งยาให้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการได้รับยาเร็ว ก่อนที่เชื้อจะลงปอด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเขียวมีโอกาสหายได้ โดยไม่กลายเป็นผู้ป่วยเหลือง หรือ แดง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญเรื่องเตียงไม่พอ
ทีมเพื่อนชัชชาติได้ไปร่วมกับกลุ่มคลองเตยดีจังในชุมชนคลองเตยในการพัฒนาระบบ ชื่อ home.care ขึ้นจากกลุ่มนวัตกร Agnos Health เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ กลุ่มหมอพยาบาลอาสา แกนนำในชุมชนที่ดูแลผู้ป่วยโควิด ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านได้รับการประเมินจากแพทย์ได้เร็วขึ้น ระบบเริ่มใช้งานมาเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้วและกำลังค่อยๆขยายความสามารถในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการลงทะเบียน การหาสถานพยาบาลมาร่วมโครงการ และ การจัดส่งยา ซึ่งการบริหารจัดการเรื่อง Home Isolation เป็นเรื่องที่ต้องรีบจัดการทะลวงคอขวดที่กล่าวมาโดยด่วน การใช้ระบบอาสาสมัครอย่างเดียวไม่น่าจะพอ ถ้าต้องจ้างคนหรือภาคเอกชนมาช่วย ก็ต้องรีบดำเนินการ เวลามีค่า เชื้อโรคไม่รอวัคซีน ไม่รอเตียง ไม่รอยา เราต้องตามให้ทัน"