- 18 ส.ค. 2564
จีนในฐานะประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย ไฟเขียวส่งลำไยจากประเทศไทยไปจีน ยืนยัน56 ล้ง ผ่านมาตรฐาน
สาธารณรัฐประชาชนจีน อนุญาตให้ผู้ประกอบการลำไยไทย ที่ตรวจพบศัตรูพืชน้อยครั้งที่สุด ส่งออกลำไยไปจีนตั้งแต่วันนี้เป็นไปต้นไป ส่วนรายที่พบมากครั้งให้มีการปรับปรุง เป็นไปตามขั้นตอน และพัฒนาระบบการส่งออกให้เป็นไปตามที่จีนต้องการในฐานะประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการตามมาตรการที่เสนอไปยังจีนอย่างเคร่งครัด
หลังจากที่ทางการจีนขอให้ กรมวิชาการเกษตร ระงับการส่งออกชั่วคราวเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดสามารถปรับปรุงและผ่านการพิจารณาของจีนได้ 6 ราย จึงสามารถกลับมาส่งออกได้อีกครั้ง ทำให้มียอดรวมโรงคัดบรรจุที่สามามารถส่งไปจีนได้ขณะนี้ 56 ราย ผู้ประกอบการไทยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ทางการจีนกำหนดในฐานประเทศผู้นำเข้า เพื่อรักษาตลาดลำไยของไทยในจีนไว้ต่อไป
ผลการหารือที่จีนตอบกลับมา ประกอบด้วย
จากการประเมินเอกสารการปรับปรุงแก้ไขที่ฝ่ายไทยเสนอมา ฝ่ายจีนเห็นว่า โรงคัดบรรจุ 6 แห่ง จาก 9 แห่ง ที่ฝ่ายไทยได้ทำการระงับเป็นการชั่วคราวด้วยตนเองในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สามารถดำเนินการเป็นไปตามข้อกำหนดในพิธีสารที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามร่วมกัน จึงอนุญาตให้ส่งออกไปจีนได้
โดยภาพรวมแล้ว ฝ่ายจีนเห็นชอบกับมาตรการป้องกันควบคุมศัตรูพืชในลำไยส่งออกไปจีนตามที่ไทยเสนอ แต่ยังคงต้องได้รับการทดสอบประสิทธิภาพของมาตรการในขั้นตอนการนำเข้า ดังนั้น ฝ่ายจีนจึงเห็นควรให้การส่งออกไปจีนของโรงคัดบรรจุ จำนวน 66 แห่ง สามารถดำเนินการใน 2 ขั้นตอน ดังนี้
(1) ให้โรงคัดบรรจุ 50 แห่ง ที่มีความถี่ในการตรวจพบศัตรูพืช
ค่อนข้างต่ำสามารถส่งออกลำไยไปจีนได้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยฝ่ายจีนจะประเมินประสิทธิภาพของมาตรการดังกล่าว ในขั้นตอนการกักกันการนำเข้าหลังจากนี้
(2) หากมาตรการดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพจริง โรงคัดบรรจุที่เหลืออีก 16 แห่ง ที่มีความถี่ในการตรวจพบศัตรูพืชค่อนข้างสูง จะสามารถส่งออกลำไยไปจีนได้
ทั้งนี้ ทางฝ่ายจีนคาดหวังให้ฝ่ายไทยจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบกักกันการส่งออกผลไม้ เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีการปนเปื้อนศัตรูพืชกักกันที่ฝ่ายจีนกังวล
มาตรการที่กรมวิชาการเกษตรเสนอทางฝ่ายจีน มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.การปรับปรุงการจัดการที่สวนและการเก็บเกี่ยวให้มีการป้องกันกำจัดและคัดแยกลำไยที่มีเพลี้ยแป้งปะปนออก
2.การปรับปรุงการจัดการที่โรงคัดบรรจุ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ (QC) ทำหน้าที่ในการตรวจสอบศัตรูพืช มีการกำหนดจุดสุ่มตรวจศัตรูพืชเพิ่มขึ้น (รับสินค้าและคัดแยก/ ก่อนรม/ หลังรม) การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น หลอดไฟส่องสว่างและอุปกรณ์ตรวจสอบศัตรูพืช ติดภาพศัตรูพืชที่ต้องคัดแยกหรือปฏิเสธการรับวัตถุดิบ รวมถึงมีพื้นที่ตรวจสอบศัตรูพืช เป็นต้น
3.การปรับปรุงการตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary certificate; PC) โดยการเพิ่มอัตราสุ่มจากเดิมร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 10 ในกลุ่มโรงคัดบรรจุ 66 ราย หากมีการตรวจพบศัตรูพืชกักกันครั้งที่ 1 จะระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเป็นระยะเวลา 7 วัน และหากมีการตรวจพบศัตรูพืชกักกันครั้งที่ 2 จะระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับโรงคัดบรรจุที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 66 ราย กรมวิชาการเกษตรจะเพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสินค้าเป็นระดับในอัตราร้อยละ 3, 5 และ 7 อย่างต่อเนื่อง