- 20 ส.ค. 2564
เพจ พ่อครูบุญศรี รัตนัง ได้มีการโพสต์ข้อความ ประกาศจากแอดมิน...แจ้งข่าวการเสียชีวิตของ พ่อครูบุญศรี รัตนังครับ แต่เนื่องจากเป็นช่วงของการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ดังนั้นรายละเอียดและกำหนดการในการจัดงาน จะแจ้งให้ทราบอีกทีครับ
สำหรับประวัติพ่อครูบุญศรี รัตนัง เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2496 อายุ 68 ปี ที่บ้านเลขที่ 80 บ้านป่าเหมือด หมู่ 4 ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ สมรสกับนางจันทร์เป็ง สุริยะเอย มีบุตรสาวคนสุดท้องชื่อ”น้องอ้อม”มณีรัตน์ รัตนัง ที่เข้ามาสืบสวนเพลงล้านนาต่อจากผู้เป็นพ่อ
พ่อครูบุญศรี รัตนัง มีอาชีพทำไร่ทำนาเช่นเดียวกับบิดามารดา ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 เริ่มรับจ้างเป่าปี่ในงานซอ เล่นตลกประจำคณะละครซอลูกเอื้องเมืองเหนือ ในปี พ.ศ. 2516 ทำงานทั่วไปประจำวงดนตรี คณะอำนวยโชว์ ของนายอำนวย กลำพัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ตั้งวงดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ชื่อวง “ลูกทุ่ง ลานทอง “และย้ายมาเล่นตลกในคณะนายประสิทธิ ศรีสมเพชร ในตลกคณะ ” จอกจมูกแดง ” ในปี พ.ศ. 2522 ปีต่อมาเข้าสู่วงการซอโดยได้รับการสนับสนุนจากนาย ประสิทธิ ศรีสมเพชร และเริ่มฝึกแต่งเพลง ใส่ทำนองเพลงแนบพื้นบ้านภาคเหนือ
ในปี พ.ศ. 2525 เริ่มร้องเพลงลูกทุ่งคำเมืองชุด “ลุงอดผ่อบ่ได้” และ “บ่าวเคิ้น” ได้รับการสนับสนุนจากแฟนเพลงในภาคเหนือ และเป็นนักร้องประจำอยู่วงดนตรีคณะศรีสมเพชรวงใหญ่ ถือว่าเป็นบุคคลแรกที่เริ่มต้นสร้างแนวเพลงนี้ขึ้น จากนั้น พ.ศ. 2526 – พ.ศ. 2528 ได้ตั้งกิจการวงดนตรีตนเอง แต่ประสบปัญหาขาดทุนจึงต้องหยุดการแสดง จึงหันเข้าสู่วงการซออีกครั้งหนึ่งทำผลงานซอออกมาอีก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 โด่งดังเป็นต้นมา
พ่อครูบุญศรี รัตนนัง ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2560 สาขาการแสดง(ดนตรีพื้นบ้านล้านนา) เป็นนักร้องเพลงซอที่มีผลงานอย่างแพร่หลายในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง จนได้รับการยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2533 ด้วย
โดยจากการเข้าไปตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก “พ่อครูบุญศรี รัตนัง” พบว่ามีบรรดาลูกศิษย์และศิลปินล้านนา รวมทั้งแฟนเพลงเข้าไปแสดงความเสียใจเป็นจำนวนมาก เช่น ณัฏฐ์ กิตติสาร & เดอะ เพอะ และ ครูแอ๊ด ภานุทัต
นอกจากนั้นพ่อครูบุญศรี ยังได้แต่งซอ “ขอรณรงค์โรคโควิด” โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์ให้หน่วยงานต่างๆนำไปซอรณรงค์ได้ทุกหน่วยงาน ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ได้โพสต์ เพลงหยุดเชื้อเพื่อชาติ โดยแต่งเนื้อร้อง และ ร้องเอง โพสต์ไว้ในเพจเฟซบุ๊ก “พ่อครูบุญศรี รัตนัง”