- 21 ส.ค. 2564
ศาลปกครองกลางยกฟ้อง พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกฯ ปล่อยให้นั่งตบยุงที่สำนักนายกฯ ชี้ เหตุฟ้องคดีหมดหลังมีคำสั่งให้กลับมาทำงาน เป็นที่ปรึกษา สบ.9 แล้ว
วานนี้ (20 ส.ค.2564) ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา คดีที่ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทีโอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หน.คสช.)ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่2
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยรวมสองประเด็น ดังนี้ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการไม่พิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 ส.ค. 2563และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีอันเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่นั้น
ศาลเห็นว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) เป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีหรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวงฯ ซึ่งงานในหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีลักษณะงานเทียบเท่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง แต่งานในหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดีขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) มีเพียงเล็กน้อย ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งของผู้ฟ้องคดีเมื่อเทียบกับผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ตลอดจนในขณะที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการปฏิรูปราชการแผ่นดินแล้วกำหนดตำแหน่งหน้าที่อื่นให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ราชการแต่อย่างใด อีกทั้งขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ผู้ฟ้องคดี ไม่อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการทางวินัยของผู้บังคับบัญชา จึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีเหตุจำเป็นที่จะดำรงตำแหน่งในกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 26 ส.ค. 2563 เสนอเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีขอโอนกลับไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานเดิมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณา และในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ธ.ค.2563 และหนังสือลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีเนื้อหาใจความทำนองเดียวกันกับหนังสือ ลงวันที่ 26 ส.ค. 2563 เพื่อให้พิจารณาเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีขอกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดเดิม กรณีจึงถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อให้พิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี
ส่วนกรณีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้รับหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 ส.ค. 2563แล้ว รวมทั้งได้รับความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ข้างต้นแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องพิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดี ตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9ก.ค. 2562 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้มีคำสั่งว่า ผู้ฟ้องคดีมีความจำเป็นหรือไม่มีความจำเป็นที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) กรณีจึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีด้วย แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อให้พิจารณาสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้วได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 เห็นชอบตามข้อเสนอของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 และต่อมาผู้ฟ้องคดีได้โอนกลับไปรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ.9) ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.)แล้ว
เหตุแห่งการฟ้องคดีจึงหมดสิ้นไป ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไปดำเนินการเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานเดิมได้อีกตามนัยมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2 ) และ (3) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2642
ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการไม่พิจารณาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2562 ใหม่ตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 ส. ค.2563 และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีอันเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่นั้น
ศาลเห็นว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2558 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2562 ให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งผบช.สตม. สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมตามข้อ 5 และให้ผู้ฟ้องคดีขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พ.ค .2558เป็นคำสั่งที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
ดังนั้น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2562 จึงมิใช่คำสั่งทางปกครองตามคำนิยามของมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาใน คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามนัยมาตรา 54 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการพิจารณาใหม่ตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 ส.ค 2563 และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีพิพากษายกฟ้อง