- 09 ก.ย. 2564
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 9 กันยายน 2564...
ทะลุ 223 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 567,724 คน รวมแล้วตอนนี้ 223,341,839 คน ตายเพิ่มอีก 9,263 คน ยอดตายรวม 4,608,209 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร อิหร่าน และตุรกี
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 141,082 คน รวม 41,372,881 คน ตายเพิ่ม 1,516 คน ยอดเสียชีวิตรวม 670,922 คน อัตราตาย 1.6%
อินเดีย ติดเพิ่ม 43,406 คน รวม 33,138,856 คน ตายเพิ่ม 339 คน ยอดเสียชีวิตรวม 441,782 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 14,430 คน รวม 20,928,008 คน ตายเพิ่ม 213 คน ยอดเสียชีวิตรวม 584,421 คน อัตราตาย 2.8%
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 38,975 คน ยอดรวม 7,094,592 คน ตายเพิ่ม 191 คน ยอดเสียชีวิตรวม 133,674 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 18,024 คน รวม 7,065,904 คน ตายเพิ่ม 797 คน ยอดเสียชีวิตรวม 189,582 คน อัตราตาย 2.7%
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อาร์เจนติน่า อิหร่าน และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น พรุ่งนี้อิหร่านจะแซงอาร์เจนติน่าได้
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 92.73 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น ติดเพิ่มกันหลักหมื่น
ส่วนเมียนมาร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา ลาว และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และไต้หวัน ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
...สถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานจำนวนติดเชื้อใหม่อยู่ลำดับ 11 ของโลก แต่หากรวมยอด ATK ด้วยก็จะพบว่าสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก
ยอดติดเชื้อสะสมของเราอยู่อันดับที่ 29 มีโอกาสแซงบังคลาเทศและแคนาดาได้ภายในปลายเดือนกันยายนนี้
...ไวรัสสายพันธุ์มิว (Mu)
องค์การอนามัยโลกกำลังจับตาดูไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์มิว (B.1.621) ซึ่งพบครั้งแรกที่โคลอมเบีย ตั้งแต่มกราคม 2564 และมีการแพร่ระบาดไปแล้ว 39 ประเทศทั่วโลก (สถิติ ณ 30 สิงหาคม 2564) โดยกำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่สนใจ (variant of interest) เพราะสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ถึง 8 ตำแหน่งตรงบริเวณหนามของไวรัส ซึ่งในจำนวนนี้ มีถึง 4 ตำแหน่งที่เหมือนกันกับที่พบในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern) ทั้งอัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า
แม้มีการประเมินว่าผ่านมาแปดเดือน สายพันธุ์นี้ก็ระบาดไปไม่มากนัก โอกาสจะขยายวงระบาดใหญ่มาเหนือเดลต้าน่าจะเป็นไปได้ยาก
แต่ข้อมูลวิจัยหลายชิ้นก็สะท้อนให้เห็นว่าต้องไม่ประมาท
ล่าสุดทีมวิจัยจากญี่ปุ่นศึกษาพบว่า สายพันธุ์มิว (B.1.621) นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) ที่เคยเชื่อกันว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อที่สุด
เรื่องนี้แต่ละประเทศจึงต้องมีการเฝ้าระวังให้ดี
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน เน้นย้ำว่าการระบาดในประเทศยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก
ด้วยรักและห่วงใย
อ้างอิง
Uriu K et al. Ineffective neutralization of the SARS-CoV-2 Mu variant by convalescent and vaccine sera. MedRxiv. 7 September 2021.