- 01 ต.ค. 2564
ผู้ว่าฯอัศวิน สั่งกำชับทุกหน่วยเฝ้าระวังริมเจ้าพระยาพร้อมช่วยเหลือประชาชนทันที เตือน 11 ชุมชน นอกคันกั้นน้ำ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า เนื่องด้วยกรมชลประทานประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยามีแผนปรับเพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาใน อัตรา 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมถึงการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในอัตรา 900-1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปริมาณน้ำดังกล่าวต้องไหลผ่านเขื่อนพระรามหกเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบในช่วงวันที่ 1-5 ต.ค.64 ตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมารวมถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น น้ำเหนือไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เฉลี่ย 2,950 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จึงมีหนังสือสั่งการ(ว8)กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ เตรียมวัสดุ อุปกรณ์และเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว เช่น การจัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวกระสอบทราย การทำสะพานทางเดินชั่วคราว การช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมทราบเป็นระยะตามตารางน้ำขึ้น-น้ำลง ของกรมอุทกศาสตร์
โดยในส่วนของสำนักการระบายน้ำติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา ความยาวประมาณ 78.93 กิโลเมตร และเรียงกระสอบทรายในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวรและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 97 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านชุมชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนและให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมน้ำเจ้าพระยา สำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที
โดยในวันที่ 1 ต.ค.64 เวลา 09.30 น. นายภาส ภาสสัมธา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการการระบายน้ำ ประจำสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะกรรมการการระบายน้ำ สภากรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมาณฝนที่ตก ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสายหลักต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากน้ำฝน น้ำเหนือหลาก และน้ำทะเลหนุน โดยมี นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ ให้การต้อนรับและรายงานสถานการณ์ ณ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ชั้น 6 สำนักการระบายน้ำ เขตดินแดง
จากนั้น เวลา 10.30 น. ประธานคณะกรรมการการระบายน้ำ ประจำสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะฯ ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe jacking) ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันได้เปิดใช้งานแล้ว ซึ่งช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในถนนสายหลัก เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณถนนพหลโยธินและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนงานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) รัชวิภา บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดถนนวิภาวดี ปัจจุบันงานก่อสร้างได้ผลงาน 81% เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าศาลอาญา เขตจตุจักร ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันได้เปิดใช้งานแล้วเช่นกัน ซึ่งช่วยเร่งระบายน้ำในคลองบางซื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง เป็นการลดระยะเวลาในการเดินทางของน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการการระบายน้ำ ประจำสภากรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่สำนักการระบายน้ำให้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม ในการใช้พื้นที่สวนสาธารณะสำหรับการสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) เพิ่มเติม ซึ่งการจัดหาพื้นที่สำหรับก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำนั้น เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับปริมาณน้ำส่วนที่เกินศักยภาพของระบบระบายน้ำเดิม เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืนต่อไป